แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2012 15:11 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 61/2555

ภาวะเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2555 เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ขยายตัว นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การส่งออกสินค้ายังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อชะลอลงเล็กน้อยจากราคาอาหารเป็นสำคัญ

การวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนนี้ใช้การเทียบกับข้อมูลในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสามารถสะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าการวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ที่ข้อมูลเกือบทั้งหมดจะมีอัตราการขยายตัวสูงผิดปกติจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนที่เกิดอุทกภัย รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมมีดังนี้

การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนขยายตัวในเกณฑ์ดี ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 0.4 ใกล้เคียงกับแนวโน้มการเติบโตในช่วงปกติ ตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 0.9 จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องจักรในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนความเสียหายจากอุทกภัยที่ยังเหลืออยู่บางส่วนและเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวจากการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมเป็นสำคัญ

การใช้จ่ายภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์ดีสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว โดยหากเทียบกับเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 ตามการผลิตของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการผลิตเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคงหดตัวจากความต้องการจากต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับภาคเกษตร รายได้เกษตรกรทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากราคาที่ปรับดีขึ้นชดเชยผลผลิตที่ลดลง

การใช้จ่ายภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 19,274 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการนำเข้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 8.5 จากเดือนก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค

สำหรับการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางลดลงจากปัญหาการเมืองในภูมิภาค

การส่งออกสินค้ายังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนนี้มีจำนวน 19,128 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 3.5 แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.4 ตามการส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญส่วนใหญ่ที่ปรับดีขึ้น

ภาครัฐ รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายที่อุดหนุนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามโครงการจำนำสินค้าเกษตร และรายจ่ายเงินโอนให้กองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นสำคัญ สำหรับรายได้นำส่งอยู่ในเกณฑ์ดี ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีสรรพสามิตจากยอดขายยานยนต์เป็นสำคัญ โดยรายจ่ายที่สูงกว่ารายได้ส่งผลให้ดุลเงินสดขาดดุล 162 พันล้านบาท

เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.32 ตามราคาอาหารสด โดยเฉพาะราคาผักผลไม้ที่ชะลอลงจากปีก่อนที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.83 ตามราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ด้านดุลการชำระเงินขาดดุลตามการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนหนึ่งจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและการไหลออกสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดของธนาคารพาณิชย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ