สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนตุลาคม ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 4, 2012 11:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2555

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวตามการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัวจากนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีนที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากนี้การลงทุนและการอุปโภคบริโภคขยายตัวเช่นกัน สำหรับการส่งออกสินค้าสำคัญลดลงเกือบทุกประเภท เป็นผลทางด้านราคาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกถุงมือยางและอาหารทะเลกระป๋องยังคงเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดหลักและการขยายตลาดใหม่

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ผลผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.3 ตามผลผลิตยางที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 20.1 จากราคายางและปาล์มน้ำมันที่ลดลงตามราคาในตลาดโลก ทำให้รายได้ของเกษตรกรจากการขายพืชผลลดลงร้อยละ 19.1 ส่วนกุ้งจากการเพาะเลี้ยง เพิ่มขึ้นทั้งผลผลิตและราคา

ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ตามการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยาง เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกายังคงมีการสั่งซื้อ ขณะเดียวกันมีคำสั่งซื้อจากตลาดใหม่มากขึ้น อาทิ จีน ชิลี ฮ่องกง รัสเซีย แองโกลา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยาง การผลิตยังคงลดลงร้อยละ 4.3 เนื่องจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป สั่งซื้อน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าจีนและมาเลเซียมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นก็ตาม

ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัว เนื่องจากนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวรัสเซีย ยังคงเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้มีจำนวน 494,101 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนเพียงร้อยละ 14.5 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 62.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีอัตราเข้าพักร้อยละ 59.4

การอุปโภคบริโภคขยายตัว โดยเฉพาะหมวดรถยนต์ที่เร่งตัวในอัตราสูงก่อนสิ้นสุดโครงการรถคันแรกนอกจากนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจัดเก็บจากธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น ทำให้ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่วนการลงทุนขยายตัวโดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.3 ตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ การนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

ราคาสินค้าสำคัญที่ยังคงลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 14.7 โดยเฉพาะยางพารา มีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 47.3 นอกจากนี้สินค้าอื่นที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ สัตว์น้ำแช่แข็ง และ ไม้ยางพาราแปรรูป ขณะที่มูลค่าส่งออกอาหารกระป๋อง และถุงมือยาง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับการนำเข้า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.7 ตามมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าน้ำยางสังเคราะห์ อุปกรณ์ก่อสร้าง และน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง

สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 6.5 จากการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลดลง ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ชะลอลงจากที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0 ในเดือนก่อนหน้า ตามการชะลอลงของการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีสรรพสามิตในหมวดสุรา รวมทั้งภาษีสรรพสามิตในหมวดยาสูบที่จัดเก็บได้ลดลง

เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 16.6 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค จากนโยบายของภาครัฐ ที่เน้นการเพิ่มรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่นเดียวกับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 13.8 เป็นผลจากธนาคารพาณิชย์แข่งขันระดมเงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ แม้ว่าความต้องการเงินให้สินเชื่อภาคธุรกิจจะชะลอตัวจากราคายางที่ลดลงก็ตาม

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.77 ตามราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตในหมวดยาสูบและสุรา ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์สดทั้งเนื้อหมู เป็ด-ไก่ และไข่ จากภาวะผลผลิตล้นตลาด รวมทั้งราคาสัตว์น้ำชะลอตัวลงจากความต้องการบริโภคที่น้อยลงในช่วงเทศกาลกินเจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Puangpeu@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ