สุนทรพจน์: Managing Risks and Rise to The Challenges of 2013: ถอดรหัสปัจจัยเสี่ยงรับความท้าทายเศรษฐกิจศักราชใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 6, 2012 10:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถา

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง "Managing Risks and Rise to The Challenges of 2013 :

ถอดรหัสปัจจัยเสี่ยง รับความท้าทายเศรษฐกิจศักราชใหม่"

ในงานสัมมนาและขอบคุณลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม 2555 เวลา 18.30-21.30 น.

ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 23

_________________________________________________________________________

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "Managing Risks and Rise to The Challenges of 2013 : ถอดรหัสปัจจัยเสี่ยง รับความท้าทายเศรษฐกิจศักราชใหม่" ซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวข้อที่ถือว่าเหมาะกับช่วงปลายปี ที่เป็นรอยต่อที่จะเชื่อมเข้าสู่การวางแผนธุรกิจในปีหน้า และเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจรอบ ๆ ตัวเรายังมีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนสูง

หากมองย้อนกลับไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศมาเป็นระยะๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถเติบโตได้ด้วยการใช้จ่ายในประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง มาตรการภาครัฐที่ยังส่งผลช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคและภาคธุรกิจยังคงมีความเชื่อมั่น ซึ่งคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะยังช่วยเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้พอควรในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่อาจปฏิเสธถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่ยังมีอยู่ข้างหน้า ในคืนนี้ ผมจึงถือโอกาสขอนำเสนอมุมมองภาพเศรษฐกิจและความเสี่ยงเหล่านี้ โดยแบ่งการบรรยายเป็น 3 ช่วงสั้นๆ (1) ภาพแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า (2) ความเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย และ (3) แนวทางและการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์หลายอย่าง ที่เป็นผลจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ เปรียบได้กับคนที่มีโรคภัยรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ทั้งในสหรัฐฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป และความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกที่ตามมา ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นโรคเรื้อรังต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง รวมไปถึงเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น และน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีก่อนซึ่งถือเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยอย่างฉับพลัน

แม้มีความเสี่ยงที่รุมเร้า แต่โชคดีที่เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานสุขภาพที่ดีพอควร จึงทำให้ยังเติบโตได้ดีเห็นได้จากในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ที่ยังมีจากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ รวมไปถึงกระบวนการฟื้นฟูและซ่อมสร้างความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม นอกจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังมีมาตรการภาครัฐที่เป็นยาเสริมในการช่วยบรรเทาผลของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว และข้อมูลล่าสุด ก็ยังชี้ให้เห็นความแข็งแรงของเศรษฐกิจในประเทศอยู่*(1) อาทิ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังดีต่อเนื่อง และตลาดการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่น

สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2555 นี้ การจับจ่ายใช้สอยในประเทศและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะที่การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดต่างประเทศ ก็เริ่มมีสัญญาณทรงตัว หรือ stabilized ขึ้น เศรษฐกิจในปีนี้จึงมั่นใจว่าน่าจะเติบโตได้จากปีก่อน โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 5.7

มองไปข้างหน้า ผมเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังจะต้องพึ่งพิงแรงส่งจากในประเทศหรือพึ่งตัวเองต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา โดยการบริโภคยังมีแรงหนุนจากรายได้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือน และภาวะการเงินที่ยังผ่อนคลาย สำหรับการลงทุน นอกจากความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดียังคาดว่าจะเห็นการลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้พร้อมต่อการเข้าสู่ AEC รวมทั้ง มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่จะสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการลงทุนของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 4.6 ภายใต้เสถียรภาพของเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากน้อยตามที่คาดไว้หรือไม่ในปีหน้า ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความท้าทายที่มาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศเอง

สำหรับความเสี่ยงแรก คือ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะยังคงเป็นโรคเรื้อรังที่คุกคามเราได้ต่อเนื่องไปอีก นอกจากนี้ วิธีการรักษาของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ทำให้เรายังต้องเผชิญความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่เป็นระยะอีกด้วย

ท่ามกลางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัวนั้นความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตามอง ยังคงอยู่ที่ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจปะทุขึ้นอีกในปีหน้าและการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา ที่หลายฝ่ายยังกังวลว่าอาจเกิดขึ้นในทางปฏิบัติได้ยาก นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงของการต่ออายุมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ถึงประมาณร้อยละ 3.5 ของ GDP และมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ น่าจะสามารถต่ออายุมาตรการดังกล่าวได้บางส่วน*(2) แต่ต้องแลกมาด้วยภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเช่นกัน สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ก็มีความเสี่ยงว่าจะอยู่ในภาวะถดถอยนานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจกระทบการส่งออกของไทยบ้าง จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนในเครือข่ายการผลิตของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี สินค้าไทยที่ส่งไปญี่ปุ่นกว่าครึ่ง เป็นสินค้าจำเป็นในหมวดอาหาร และสินค้าพื้นฐาน ทำให้ผลกระทบคาดว่าจะไม่รุนแรงจนทำให้การส่งออกของไทยต้องสะดุดลง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนและเอเชียล่าสุดมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีกว่าคาด ตัวเลขการบริโภคการลงทุน และการส่งออกที่เริ่มปรับดีขึ้นของจีนถือเป็นผลดีกับเศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ รวมทั้งไทยในระยะต่อไปเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตได้จากการใช้จ่ายในประเทศแม้การส่งออกจะยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซียหรือมาเลเซีย

ในระหว่างที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักยังมุ่งแก้ปัญหาผ่านมาตรการกระตุ้นทางการเงินต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนการลงทุนของประเทศหลักจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและอาจส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ค่าเงินผันผวนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผลจากการดำเนินมาตรการทางการเงินระลอกล่าสุด ทั้ง QE3 โดยสหรัฐฯ และ OMTs ในยุโรป คาดว่าจะน้อยกว่าผลจากการผ่อนคลายทางการเงินที่เคยมีในช่วงก่อนหน้า และล่าสุด ยังไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่น่าเป็นกังวล*(3)

ท่านผู้มีเกียรติครับ

นอกจากความเสี่ยงจากภายนอกแล้ว ยังมีความท้าทายจากภายในประเทศเอง ที่สำคัญน่าจะเป็นประเด็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและความท้าทายของภาคการคลัง

แม้ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจส่วนใหญ่สามารถปรับตัวต่อค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ แต่การปรับขึ้นอีกระลอกในปีหน้า ยังเป็นความท้าทายต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งได้แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแล้วในปีนี้ และจะต้องติดตามว่าจะยังสามารถปรับตัวอีกครั้งได้มากน้อยเพียงไรภายใต้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ หากธุรกิจสามารถปรับตัวผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าจะโดยการปรับลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ก็อาจถือเป็นการเตรียมความพร้อมของธุรกิจเพื่อการแข่งขันในตลาด AEC ไปในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ ภาคการคลังที่ตั้งใจจะเข้ามามีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และเป็นแรงสนับสนุนให้กับการใช้จ่ายในประเทศ ยังมีความเสี่ยงว่า กระบวนการต่างๆ ในทางปฏิบัติอาจล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะทำให้โครงการที่เกี่ยวเนื่องของภาคเอกชนต้องล่าช้าตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากรัฐบาลสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ก็จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงและวางแนวทางที่เหมาะสมให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ในช่วงสุดท้ายนี้ผมจึงอยากขอเสนอมุมมองต่อบทบาทของแต่ละภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนครัวเรือนและหน่วยงานภาครัฐ ในการบริหารความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะต่อไป

ในส่วนของภาคเอกชน เราต้องยอมรับถึงความสามารถและควรชมเชยภาคธุรกิจที่ได้พยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เหมือนการออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง ผ่านการเตรียมความพร้อม วางแผนอย่างเป็นขั้นตอน และไม่ทำธุรกิจที่เกินกำลังไป ทำให้ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจสามารถเผชิญหน้ากับโรคภัยทางเศรษฐกิจ และจัดการกับความเสี่ยง โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอได้พอสมควร เห็นได้จากนโยบายในการกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ ที่ยังเติบโตได้ รวมทั้งการหันมาพึ่งตลาดในประเทศมากขึ้นเพื่อทดแทนความต้องการซื้อที่หายไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงการแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ในการยกระดับแนวทางจัดการกับความเสี่ยงด้านต่างๆ ให้ครอบคลุม และเป็นไปได้มากขึ้นในทางปฏิบัติ เช่น การเพิ่มคุณภาพการผลิต ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และลดต้นทุน เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านแรงงานซึ่งตึงตัวและเข้าข่ายขาดแคลนมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากเราคงไม่สามารถอาศัยความได้เปรียบทางการแข่งขันผ่านการขายสินค้าราคาต่ำได้อีกต่อไป และจำเป็นต้องคิดค้นกระบวนการผลิต หรือสินค้าใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังควรเดินหน้าบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น FX Forward หรือ Interest rate swap เพื่อช่วยลดความไม่แน่นอนในการบริหารรายรับ-รายจ่าย และลดผลกระทบจากค่าเงินที่ผันผวนได้ส่วนหนึ่ง ในปัจจุบัน ข้อมูลจากการสำรวจชี้ว่า การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก จากข้อจำกัดทั้งในด้านต้นทุน คุณสมบัติทางการเงินและการรับทราบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในอนาคตที่ความผันผวนทางเศรษฐกิจยังไม่หมดไป ภาคธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ก็อาจมีความจำเป็นในการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้มากขึ้น

สำหรับ ภาคครัวเรือนหรือประชาชน ก็อยู่ในข่ายที่ต้องวางแผนเพื่อบริหารความเสี่ยงไม่ต่างจากภาคธุรกิจ ในที่นี้ผมหมายถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อาจจะเปลี่ยนไป การพัฒนาศักยภาพของตนเอง การสร้างวินัยการออม และการรู้จักบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างเบาะในการช่วยรองรับความเสี่ยงที่อาจมาพร้อมกับความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

สำหรับรัฐบาล การใช้จ่ายตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์ ไม่เพียงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงในระยะสั้นได้ แต่หากใช้จ่ายได้อย่าง “ตรงจุด” “มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” และ “ไม่สร้างภาระผูกพันจนเกินตัวไปในระยะยาว” ด้วยแล้ว ก็จะถือเป็นการช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวไปในคราวเดียวกันด้วย

ในส่วนของ ธปท. เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยดูแลและจัดการกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจในภาพรวมเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับระบบการเงิน สนับสนุนให้ธุรกิจวางแผนการลงทุนและดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ซึ่งบทบาทของ ธปท. ที่สำคัญมีอยู่ 3 ด้าน

บทบาทด้านแรก คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่มีหลักการชัดเจน และมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่เครื่องมือต่างๆ และจังหวะการใช้ ที่ผ่านมาเรามีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งช่วยให้ราคาวัตถุดิบและราคาสินค้ามีเสถียรภาพ สามารถบริหารต้นทุนได้แน่นอนและแข่งขันกับต่างประเทศได้ เอื้ออำนวยต่อการวางแผนธุรกิจและไม่ทำให้อัตราผลตอบแทนของนักลงทุนต้องถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนไป แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อนำมาใช้จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เปรียบได้กับยาที่ออกฤทธิ์กับทุกส่วนในร่างกาย จึงไม่ควรใช้แก้อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะจุด เพราะอาจส่งผลข้างเคียงกับอวัยวะส่วนอื่น การดูแลความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นเฉพาะส่วนจึงต้องพึ่งพามาตรการเสริมที่เฉพาะเจาะจง หรือ Macro-prudential policy เช่น การกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-Value Ratio: LTV) ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงที่นำมาใช้ในปี 2546 ซึ่งแม้ขณะนั้นยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่ แต่ถือเป็นมาตรการในเชิงป้องกัน เนื่องจากสินเชื่อในกลุ่มนี้เติบโตในอัตราที่สูงมาก หากใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเพียงปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมได้

ด้านที่สอง ซึ่ง ธปท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ สนับสนุนภาคธุรกิจที่มีศักยภาพให้สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ผ่านการทยอยผ่อนคลายนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งส่วนหนึ่งจะสอดรับกับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ด้วย นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผ่อนคลาย ให้การออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น และครอบคลุมนักลงทุนในกลุ่มที่กว้างขึ้น สร้างสมดุลของเงินทุนที่ไหลเข้าออกเพื่อลดความผันผวนในตลาดการเงิน และยังมีส่วนช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงหรือหาผลตอบแทนจากต่างประเทศได้สะดวกขึ้น

ด้านที่สาม คือ การดูแลความสมดุลในระบบสถาบันการเงิน และเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของระบบผ่านนโยบายด้านสถาบันการเงิน จากการที่ระบบสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์เป็นช่องทางสำคัญที่เชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน หากขาดสมดุล อาจทำให้สถาบันการเงินกลายมาเป็นตัวกลางในการส่งต่อความเสี่ยงจากภาคธุรกิจหนึ่งไปสู่ภาคธุรกิจอื่น และลุกลามไปยังระบบการเงินในภาพรวม กลายเป็นวิกฤตใหญ่เช่นที่เคยเกิดขึ้นได้ การดูแลความเสี่ยงในระบบสถาบันการเงินจึงมีความสำคัญ เปรียบได้กับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ระบบสถาบันการเงินที่มีเสถียรภาพยังอาจช่วยรองรับความผันผวนหรือ shocks ต่อเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ดังเช่นที่เศรษฐกิจไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตการเงินโลกมาได้ในปี 2552

โดยสรุปแล้ว ในแง่ของการบริหารความเสี่ยง คงต้องยอมรับในความสามารถว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงของภาคเอกชนที่ผ่านมา ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดี ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็มีบทบาทในการให้ public service เพื่อช่วยจัดการกับความเสี่ยงในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ เช่น การดูแลให้ระดับราคาและต้นทุนมีเสถียรภาพ รวมทั้งการใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เหมาะสม หรือลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการเสริมหรือปิดช่องว่างในการจัดการกับความเสี่ยงที่อยู่นอกเหนือขีดความสามารถของภาคเอกชน และเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจ ประชาชน และเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ แต่ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ ที่รอเราอยู่ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี และต้องตระหนักว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้อง “ลงมือทำ” หากทุกคนจัดการดูแลและบริหารความเสี่ยงในส่วนของตนได้ดี ก็จะถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีสุขภาพแข็งแรง สามารถต่อสู้กับความท้าทายและความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างราบรื่น

ขอบคุณครับ

*(1) ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมสะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังดี (1) ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ร้อยละ 0.6 ต่อเดือน และดัชนีบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.3 ต่อเดือนเช่นกัน (2) ภาคการผลิตเพื่อขายในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจำกัดอยู่แค่การผลิตเพื่อการส่งออก (3) แม้การจ้างงานในภาคการส่งออกจะลดลง แต่ถูกรองรับด้วยการจ้างงานเพื่อการผลิตขายในประเทศ สะท้อนความต้องการใช้จ่ายในประเทศที่ยังดีอยู่

*(2) ธปท. คาดว่าทางการสหรัฐฯ จะสามารถต่ออายุมาตรการดังกล่าวได้เป็นส่วนใหญ่ และเหลือส่วนที่ไม่สามารถต่ออายุได้เพียงประมาณร้อยละ 1.0-1.8 ของ GDP ปัญหาข้างต้นจึงคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อการเติบโตของสหรัฐฯ ในปี 2556 มากนัก

*(3) QE3 มีขนาดประมาณ 40 Bn USD ต่อเดือน เทียบกับ QE1 ที่มีขนาดทั้งหมด 1,725 Bn USD (พ.ย. 2551 — มี.ค. 2553) และ QE2 ที่ 767 Bn USD (พ.ย. 2553 — มิ.ย. 2554) ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดแสดงว่า เงินทุนไหลเข้ายังอยู่ระดับที่ต่ำกว่าในช่วงมาตรการ QE1 และ QE2 โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีมีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนประมาณ 12 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินทุนไหลเข้าของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ