สุนทรพจน์: การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจและประชาชนในการลงทุน ปี 2013

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 13, 2012 16:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวปาฐกถาและเปิดงาน

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง "การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจและประชาชนในการลงทุน ปี 2013 "

งาน Thailand Smart Money

จัดโดย บริษัทดอกเบี้ย จำกัดและบริษัท พี.เอ พรินท์ติ้งเฮ้าส์ จำกัด

ณ เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2555 เวลา 10.30-11.00 น.

________________________________________________________________________________________

ผู้บริหารเครือหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ

ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมมีความยินดีที่ได้รับเกียรติในการกล่าวเปิดงาน “Thailand Smart Money” ซึ่งงานในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้สนใจการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม จะได้พบปะและสอบถามข้อมูลกับผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการทางการเงินและการลงทุนในปีหน้านี้

ในฐานะผู้ติดตามดูแลภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ผมขอถือโอกาสนี้ update ข่าวคราวทางเศรษฐกิจและมุมมองในเรื่องของบรรยากาศการลงทุนในปีหน้า ทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่อาจยังต้องระแวดระวังในระยะต่อไป เพื่อเป็นข้อมูลเสริมประกอบการตัดสินใจของท่าน

สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนการลงทุน ผมมองว่า บรรยากาศการลงทุนในปีหน้าจะยังดีต่อเนื่องจากปีนี้

ในด้านเศรษฐกิจโลก ความอึมครึมดูเหมือนจะน้อยลงกว่าช่วงก่อน ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ได้กลับมาขยายตัวได้เป็นปกติ แต่ก็เรียกว่าได้ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียหลายประเทศเริ่มกลับมาส่งออกและขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่ายังมีหลายเรื่องที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นผลการต่ออายุมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ (fiscal cliff) หรือการหดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อาจเนิ่นนานกว่าที่คาด และในยุโรป แม้จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องการแผนงานเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติด้วย ซึ่งความกังวลในปัจจัยเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุให้ตลาดการเงินยังคงมีความผันผวนอยู่ได้บ้างในระยะต่อไป

และเมื่อกลับมามองเศรษฐกิจของบ้านเรา ผมเห็นว่าไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี ด้วยการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่ยังดี และได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาไม่มาก เสถียรภาพโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยังไม่มีสัญญาณการเกิดฟองสบู่ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีน้อย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษาอัตราผลตอบแทนของ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินหรือทางกายภาพไม่ให้ด้อยค่าลงไป

ในปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 4.6 จากปีนี้ โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ อีกทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐภายใต้มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ แต่อาจยังต้องระมัดระวัง และจับตามองการปรับตัวของภาคธุรกิจจากการปรับเพิ่มต้นทุนค่าแรงเป็น 300 บาทในระลอกสอง ซึ่งอาจส่งผลมากกว่า การปรับครั้งแรกในช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตฟื้นตัวได้ช้าด้วย

อย่างไรก็ดี พื้นฐานการเติบโตที่ดีและเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทย โดยในระยะต่อไป การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะช่วยแก้ปัญหาคอขวดของภาคการผลิต เช่น ด้านการขนส่ง จะช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจลงได้ นอกจากนี้ การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็จะเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสอันดี ที่ภาคธุรกิจจะลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับตลาดที่เปิดกว้าง และการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น

หากมองโอกาสของการลงทุนให้กว้างออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม AEC ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เนื่องจากความร่วมมือ AECเปรียบเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงการค้าบริการและลงทุนภายในภูมิภาคที่มีมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นทั้งตลาดที่ใหญ่ แหล่งแรงงานที่ต้นทุนยังไม่สูงมาก ซึ่งถือว่าเป็นอีกทางเลือกการลงทุนของภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดการเงิน ที่จะมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ผ่านระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน (ASEAN link) ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการเติบโตของการลงทุนเพื่อการค้าและ การผลิต และการกระจายความเสี่ยงการลงทุนทางการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกของแหล่งเงินทุน และลดต้นทุนในการระดมทุนจากต่างประเทศให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ผู้ลงทุนเองก็จะมีทางเลือกในการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น

และเชื่อว่า มีนักลงทุนที่มีศักยภาพอีกไม่น้อยทพี่ ร้อมที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกฎเกณฑ์การออกไปลงทุนทั้งด้านการลงทุนทางตรงเพื่อผลิตสินค้า และการลงทุนในตราสารการเงินก็เริ่มผ่อนคลายลงมาก ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยทยอยเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการกระจายการลงทุนและสร้างความพร้อมของนักลงทุนที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาตลาดการเงินของคนไทยไปด้วย

สิ่งที่อยากทิ้งท้ายในวันนี้ สำหรับหลายท่านที่เห็นโอกาสที่ดีแล้ว รู้สึกพร้อมที่จะลงทุน และกำลังมองหาช่องทางการบริหารเงินที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมมีแนวทางง่าย ๆ ในการช่วยจำ ซึ่งเชื่อมหลักการสำคัญในการเรียนรู้ที่จะลงทุนแบบ SMART way เพื่อให้สอดคล้องกับชื่องาน SMART money ดังนี้

S คือ Saving หรือการออม ผมอยากให้ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของเงินออม ที่จริง ๆ แล้ว มิได้เป็นประโยชน์แต่เพียงเฉพาะกับผู้เก็บออมเท่านั้น แต่ถือเป็นเรื่องระดับชาติ เพราะเงินออม คือ แหล่งเงินทุนที่สำคัญของธุรกิจและภาครัฐ หลายท่านออมผ่านการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งด้วยตนเอง แต่อีกหลายท่าน ออมให้คนอื่นนำไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในช่องทางใด ถือว่ามีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจได้ เราจึงควรสร้างวินัย “ออมก่อนใช้” และการจัดสรรรายได้และออมอย่างพอดี ทั้งเพื่อการใช้จ่ายในยามฉุกเฉินและ เพื่อการลงทุนสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว

M คือ Me, My self เมื่อเรามีเงินออมแล้ว ต้องรู้จักตัวเอง ที่เป็นเจ้าของเงินนั้นต้องตั้งคำถามและทำความเข้าใจเป้าหมายของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการลงทุนแสวงหาผลตอบแทน หรือเพื่อการลดหย่อยภาษีในช่วงท้ายปี รวมทั้งรสนิยมของตนเองในการลงทุน เช่น ประเภทหรือผลิตภัณฑ์ในการลงทุน (หุ้นพันธบัตร หรือการลงทุนผ่านกองทุนต่าง ๆ) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระยะเวลาในการลงทุน ว่าแบบไหนจึงจะทำให้ตนเองมั่นใจและสบายใจ เพื่อที่จะสามารถจัดสรรเงินออมเพื่อการลงทุนได้เหมาะกับตนเอง

A คือ Assets Allocation เพราะเมื่อรู้จักตนเองแล้ว ก็ต้องเตรียมพร้อมในการศึกษาหาความรู้ในทางเลือกต่าง ๆ ของการลงทุน เพราะสินทรัพย์แต่ละชนิดให้ผลตอบแทนในรูปแบบที่ต่างกันไป รวมทั้งมีระดับความเสี่ยงไม่เหมือนกัน จึงอาจบริหารเงินหรือจัดสรร การลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง โดยคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนและข้อจำกัดการลงทุนของตนเองเป็นหลัก

R คือ Risk and Return management การจัดสรรการลงทุนที่ดี จะรวมถึงการรับรู้ผลตอบแทนการลงทุนเทียบกับความเสี่ยงที่เผชิญอยู่ แน่นอนว่า 4 สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ย่อมมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย แม้มีการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่าง ๆ แล้ว ความเสี่ยงในภาพรวมก็อาจยังสูงเกินกำลังของผู้ลงทุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดอุปสรรคต่อการลงทุนทั้งหมด การรู้จักบริหารความเสี่ยงผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่รับได้ ถือเป็นแนวทางที่จำเป็นในการจัดสรรการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ

สุดท้ายที่ถือว่ามีความสำคัญมาก T คือ Timing กล่าวคือการรู้จักเลือกที่จะลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผ่านการเกาะติดข้อมูลข่าวสารภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงิน รวมทั้งต้องมองไปข้างหน้าเพื่อดูแนวโน้มในอนาคตและสัญญาณฟองสบู่ปกติราคาของสินทรัพย์จะมีวัฏจักรขึ้นลงแล้วแต่ปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นราคาทองที่ผูกกับเศรษฐกิจโลก หรือราคาหลักทรัพย์ที่มักสะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยราคาสินทรัพย์ที่แพงมากแล้ว ก็อาจไม่สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อีกมากนัก ทำให้อาจต้องรอเวลาที่เหมาะสมใน การลงทุนด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขอเรียนว่ารู้สึกยินดีที่ได้เห็นทุกท่านในที่นี้ ทั้งภาคเอกชน ภาคสื่อมวลชนและผู้จัด ที่เล็งเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุน และหวังว่างาน Thailand Smart Money ในวันนี้ จะเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อม ได้เห็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ และเพิ่มพูนความรู้ทางการเงิน เพื่อการบริหารเงินได้อย่าง SMART ต่อไป และผมขอเปิดงาน Thailand Smart Money ณ บัดนี้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ