การออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนตามแนวทาง Basel III

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 14, 2012 08:57 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 64/2555

วิกฤตการเงินโลกและปัญหาของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในช่วงปี 2550 — 2551 ที่ผ่านมา ชี้ให้ผู้กำกับดูแลในประเทศต่าง ๆ เห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนแนวคิดการกำกับดูแลระบบการเงินของโลก เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตในอนาคต ทั้งนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นในต่างประเทศครั้งนี้มาจากปัญหาหลัก ๆ คือ ปัญหาด้านสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งมีปัจจัยหลกั จากรูปแบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยอาศัยแหล่งเงินจากผู้ลงทุนรายใหญ่ (Wholesale funding) การขยายธุรกิจเกินกำลังของสถาบันการเงินเอง และนอกจากนี้กลไกการดำรงเงินกองทุนที่ใช้อยู่ภายใต้กรอบ Basel II ก็ส่งผลให้ความผันผวนของวัฏจักรเศรษฐกิจทวีความรุนแรงมากขนึ้(Procyclicality) ด้วยเหตุนี้ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ได้ออกหลักเกณฑ์ Basel III เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑก์ รกำกับดูแลสถาบันการเงิน โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ คือ

  • การกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุน ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากหลักการของ Basel II โดยเน้นความสำคัญในเรื่องคุณภาพของเงินกองทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมรองรับเผื่อในยามวิกฤตด้วย
  • การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงิน โดยกำหนดอัตราส่วนทางด้านนี้เพื่อให้ผู้กำกับดูแลใช้เป็นเครื่องมือในการวัดสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
  • การกำกับดูแลการขยายตัวของสถาบันการเงิน โดยกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนเพื่อเทียบกับปริมาณธุรกิจของสถาบันการเงิน (Leverage ratio)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ระบบสถาบันการเงินไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา อีกทั้งลักษณะธุรกรรมของสถาบันการเงินในประเทศไทยก็ไม่ได้มีความเสี่ยงในลักษณะเช่นเดียวกับสถาบันการเงินในประเทศที่เกิดวิกฤต แต่การนำหลักเกณฑ์ Basel III ด้านเงินกองทุนมาใช้ สอดคล้องกับหลักการสำคัญที่ ธปท. ใช้ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน คือ

(1) ช่วยให้สถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนมั่นคง และมีการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น

(2) เพื่อแสดงถึงศักยภาพของสถาบันการเงินไทย ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากลเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำ และประเทศในกลุ่มเอเชียด้วยกันเอง

ในการนี้ ธปท. ได้ศึกษาหลักเกณฑ์ที่เข้มขึ้นตามแนวทาง Basel III รวมถึงได้วิเคราะห์ผลกระทบในการนำหลักเกณฑ์ด้านเงินกองทุนมาใช้ในประเทศไทยแล้ว พบว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างเสริมเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงิน อันจะเป็นผลดีต่อภาคเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ในไทยที่มีอัตราส่วน BIS ratio ที่ประมาณร้อยละ 16 อีกทั้ง ยังมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในรอบ 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งระบบมีกำไรรวมอยู่ที่ประมาณ 135,000 ล้านบาท จึงแสดงถึงศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ในไทยที่มีความพร้อมสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านเงินกองทุนตามแนวทาง Basel III ได้ทันที

ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงได้ออกประกาศ ธปท. จำนวน 7 ฉบับ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนตามแนวทาง Basel III โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common equity tier 1) ไม่ต่ำกว่า 4.5% เงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ไม่ต่ำกว่า 6% และ เงินกองทุนทั้งสิ้น (Total capital ratio) ไม่ต่ำกว่า 8.5% เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ปัจจุบัน และให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศดำรงเงินกองทุน ทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 8.5% เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

สำหรับหลักเกณฑ์เรื่องการดำรงอัตราส่วนด้านปริมาณธุรกิจ (Leverage ratio) รวมถึงมาตรการด้านการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ธปท. อยู่ระหว่างการติดตามหลักเกณฑ์ของ BCBS และวิเคราะห์ผลกระทบ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้กับระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยต่อไป

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ