บทความ: ทางหลวงพิเศษชายแดนไทย-มาเลเซีย กับโอกาสทางเศรษฐกิจชายแดนใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2012 13:11 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายศรานุวัตร ยีแก้ว

ทางหลวงพิเศษชายแดนไทย-มาเลเซีย หรือมอเตอร์เวย์เป็นทางหลวงพิเศษที่เชื่อมระหว่างอำเภอหาดใหญ่กับอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งติดชายแดนไทย-มาเลเซีย พื้นที่เป้าหมายมีระยะทางยาว 57.5 กิโลเมตร พาดผ่าน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เส้นทางขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ช่วงอำเภอหาดใหญ่-ด่านศุลกากรสะเดา ซึ่งทางหลวงพิเศษฯ เส้นนี้เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บท การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ที่ทำการศึกษาโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุน (Japan International Cooperation Agency : JICA) ในปี พ.ศ.2534 และกรมทางหลวงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2548 ซึ่งผลการศึกษาในขณะนั้นยังไม่มีความเป็นไปได้ทางการเงิน ในทุกรูปแบบการลงทุน และเสนอแนะให้เลื่อนการเปิดให้ใช้บริการ ไปเป็นปี พ.ศ.2558 เป็นต้นไป และควรมีการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนดำเนินโครงการ

ทำไมถึงมีการพูดถึงและพยายามผลักดันโครงการนี้กันมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะเส้นทางนี้เชื่อมต่อระหว่าง อ.หาดใหญ่-ด่านศุลกากรสะเดา ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งการค้าและการท่องเที่ยวเพราะด่านศุลกากรสะเดา เป็นด่านที่มีอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าการค้าสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 54.8 ของมูลค่าการค้า ไทย-มาเลเซีย และร้อยละ 54.96 ของมูลค่าการค้าของภาคใต้ โดยมีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 300,000 ล้านบาท สินค้าออกที่สำคัญได้แก่ ยางพาราและสัตว์น้ำ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ สินค้าหมวดเครื่องจักร-อุปกรณ์ และสื่อบันทึกข้อมูลขณะเดียวกันมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาเฉลี่ยปีละประมาณ 1.16 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 84.53 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามา ในประเทศผ่านทางด่านสะเดาและร้อยละ 28.25 ของภาคใต้ ทั้งมูลค่าการค้าและนักท่องเที่ยวมีการขยายตัวมากมาตลอด โดยในช่วงปี 2553-2554 ขยายตัวเฉลี่ยปีละร้อยละ 8.0 และ 13.6 ตามลำดับ ประกอบกับมีชุมชนหนาแน่นขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ช่วง อ.หาดใหญ่- ด่านศุลกากรสะเดาตลอดสาย และกรมทางหลวง ไม่สามารถขยายช่องจราจรเพิ่มขึ้นตามปริมาณรถ ที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะปจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรเต็มเขตทางแล้ว (Ultimate Urban Stage) จึงส่งผลให้การขนส่งสินค้าเข้าออกระหว่างชายแดนและการเดินทาง เข้าออกของนักท่องเที่ยวเกิดความล่าช้านำไปสู่ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ

การนำโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายหาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซียมาปดฝุนอีกครั้ง จึงเป็นทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมที่สุดในขณะนี้ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการขนส่งและเดินทาง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ตลอดจนยังเป็นการเชื่อมโยงกับเครือข่าย โลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวในภูมิภาคมีความคล่องตัว อันจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคใต้และประเทศในระยะยาว

แต่ด้วยสภาพปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้อง มีการศึกษาและทบทวน รวมถึงเพิ่มเติมข้อมูลที่เป็นปจจุบัน ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ตั้งงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด มาทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการลงทุน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ต่อประชาชน ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2556

อย่างไรก็ตาม หากผลการศึกษาพบว่ามีความเหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุน หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงควรนำไปพิจารณาและรีบดำเนินการ หากไม่เช่นนั้นแล้ว ความล่าช้าจะส่งผลให้ปัญหาในปัจจุบัน มีการสะสมและขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับเงินลงทุนโครงการเมื่อปี 2553 ที่ประมาณ 9,000 กว่าล้านบาท ก็จะเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจะเสียโอกาสจากการขยายตัวของการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ