นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์
สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้มีโอกาสติดตามประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินไทย ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting Framework: FIT) และอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ” ที่แบงก์ชาติใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายกันพอสมควร โดยมีงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่สะท้อนทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของกรอบนโยบายดังกล่าว
ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เผยแพร่งานวิจัยภายใต้ชื่อ “Shock Therapy! What Role for Thai Monetary Policy” โดย Harun Alp และ Selim Elekdag ซึ่งศึกษาบทบาทและประสิทธิภาพของนโยบายการเงินไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤตระหว่างปี 2551-2554 และได้แสดงข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ ที่ผมจะมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ครับ
คำถามสำคัญของงานวิจัยนี้ คือ นโยบายการเงินมีบทบาทในการช่วยลดทอนผลกระทบและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่และมากน้อยเพียงใด โดยเลือกศึกษาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤต 3 ครั้ง ได้แก่ (1) วิกฤตการเงินโลกหรือ “Hamburger Crisis” (2) เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นและ (3) มหาอุทกภัยในไทยเมื่อปี 2554
เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผู้วิจัยใช้การตั้งเหตุการณ์สมมติว่า “หากการดำเนินนโยบายการเงินไทยไม่ได้อยู่ในรูปแบบเช่นที่เป็นอยู่ ผลกระทบของวิกฤตทั้งสามต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ดีหรือแย่กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง” ซึ่งผลสรุปที่ได้ คือ หากประเทศไทยไม่ได้ใช้กรอบ FIT และมีอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น (แต่ใช้กรอบอื่น เช่น กรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่) จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้น กล่าวคือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริงถึงร้อยละ 3.7 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปกติที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ผู้วิจัยสรุปว่า มีสองปัจจัยหลักที่นำไปสู่ข้อสรุปข้างต้น ได้แก่
ปัจจัยแรก คือ กรอบ FIT ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการเงินไทยในปัจจุบัน มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีเสถียรภาพจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและไม่ผันผวนจนคาดเดาได้ยาก
นอกจากนี้ กรอบ FIT นี้ยังมี “ความยืดหยุ่น” เพียงพอ กล่าวคือ ในการกำหนดนโยบายการเงินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้มุ่งเป้าหมายแคบๆ เฉพาะอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น แต่เน้นเป้าหมายในระยะปานกลางด้วย จึงทำให้สามารถดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) และลดความผันผวนระยะสั้น (counter-cyclical) โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบที่คาดเดาได้ยากจากภายนอกโดยงานวิจัยได้ยกตัวอย่าง ช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2552 ที่ กนง. ได้ตัดสินลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 2.5 ไปอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ได้อย่างทันท่วงทีว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นได้ดีระดับหนึ่ง
นอกเหนือจากกรอบ FIT แล้ว ผู้วิจัยชี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีตามกลไกตลาด ได้ทำหน้าที่เป็นตัวรองรับผลกระทบชั้นต้น (initial shock absorber) ให้แก่เศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง กล่าวคือ ในช่วงวิกฤตการเงินโลก การค้าระหว่างประเทศที่ชะงักลงอาจส่งผลร้ายแรงต่อภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทแท้จริงที่ลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศคู่ค้าอื่น อันเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และมีส่วนสำคัญในการรองรับผลกระทบต่อภาคการส่งออก ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่ากรณีที่แบงก์ชาติพยายามรักษาค่าเงินไว้ที่ระดับเดียว
ดังนั้น เมื่อผสมผสานกรอบ FIT และอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นเข้าด้วยกัน เศรษฐกิจไทยจึงมีความแข็งแกร่งในการรองรับผลกระทบจากวิกฤตได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งก็สอดคล้องกับผลวิจัยที่ผมได้รายงานไปก่อนหน้าครับ
สุดท้าย เชื่อว่าผลวิจัยนี้คงจะช่วยเพิ่มแง่มุมที่น่าสนใจและแปลกใหม่แก่ท่านผู้อ่าน ในการตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทและประสิทธิภาพของนโยบายการเงินไทยที่ยังเป็นปัญหาคาใจของหลายท่านได้ไม่มากก็น้อย และท่านสามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ตามลิงค์ด้านล่างครับ
http://www.imf.org/external/pubs/ft/wp/2012/wp12269.pdf
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย