แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 28, 2012 11:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 26/2555

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2555 ยังขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากบุคลากรขององค์กรภาครัฐ สะท้อนจากงบประมาณประจำในหมวดเงินเดือนและค่าวิทยฐานะที่ขยายตัวสูง ประกอบกับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่งผลให้ภาคการค้ายังขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้า นอกจากนี้ ภาคการลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวดีโดยเฉพาะการลงทุนเพื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.48 ชะลอจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.93 ตามราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ในเดือนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก กอปรกับยอดจดทะเบียนยานยนต์ที่เร่งตัวสูงทั้งรถยนต์นั่งและรถบรรทุกส่วนบุคคล เนื่องจากบริษัทจำหน่ายรถยนต์มีการเร่งส่งมอบรถเพื่อให้ทันภายในสิ้นปีนี้ สอดคล้องกับ ภาคการค้าที่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 32.8 โดยเป็นการขยายตัวของการค้าในทุกหมวด โดยเฉพาะการค้าในหมวดยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากประชาชนเร่งซื้อรถยนต์ก่อนหมดมาตรการรถยนต์คันแรก สำหรับการค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่องจากการค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและสินค้าบริโภค ขณะที่การค้าส่งขยายตัวจากการขายส่งเบียร์ เหล้า ไวน์ เครื่องดื่ม เครื่องจักร อุปกรณ์ ไม้ และวัสดุก่อสร้าง ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 56.5 โดยงบประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 ในหมวดเงินเดือนจากของข้าราชการและเงินค่าวิทยฐานะของครู ส่วนงบลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 118.7 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปและหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นสำคัญ สนับสนุนให้ การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.4 ขยายตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 แม้ชะลอลงบ้างแต่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังคงขยายตัวตามโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงรอบนอกเขตเทศบาล ประกอบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขยายตัวถึงร้อยละ 107.4 รวมทั้งเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติให้ประกอบกิจการขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 313.2 ทั้งนี้มีการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและผลิตไอน้ำในจังหวัดกาฬสินธุ์ เงินลงทุนกว่า 3,264.8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รายได้จากภาคเกษตรสะท้อนจาก ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามดัชนีราคาพืชสำคัญที่หดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.0 โดยราคาข้าวลดลงส่วนหนึ่งจากโรงสีชะลอการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ซึ่งเป็นผลเนื่องจากการระบายข้าวสารในสต็อกของทางการเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยและมันสำปะหลังยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.0 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวและมันสำปะหลัง เป็นผลจากราคาจูงใจในปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่กรีดได้เพิ่มขึ้นในส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีสต็อกเพียงพอจากการผลิต ในช่วงเดือนที่แล้ว ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวค่อนข้างสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นสำหรับการผลิตน้ำตาลโดยรวมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากน้ำตาลทรายดิบที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73.5 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเปิดหีบมีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อน ส่วนภาคบริการ อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 50.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 44.6

ภาคการเงิน ณ สิ้นตุลาคม ธนาคารพาณิชย์ มียอดเงินฝากคงค้าง 556.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.7 โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากผู้ฝากบางส่วนเคลื่อนย้ายเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การซื้อกองทุนรวม LTF-RMF ด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 624.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 21.0 โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายรถคันแรกและบ้านหลังแรกเป็นสำคัญ สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 112.2 ด้านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 301.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.5 ในขณะที่สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจมียอดคงค้าง 823.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.1 สำหรับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินเชื่อเพื่อสังคมตามนโยบายของรัฐบาล รองลงมาเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.48 ชะลอตัวจากจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.93 ตามราคาอาหารปรุงที่บ้านและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.83 สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.80 สำหรับอัตราการว่างงานเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.5

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ