แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 28, 2012 11:54 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 66/2555

ภาวะเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายน 2555 ในภาพรวมขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ประกอบกับการส่งออกสินค้าทยอยปรับดีขึ้น ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากเดือนก่อน ด้านการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากราคาอาหารสดเป็นสำคัญ

การวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนนี้ยังใช้การเปรียบเทียบกับข้อมูลในเดือนก่อนหน้า เพื่อให้สามารถสะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าการเปรียบเทียบกับข้อมูลของเดือนเดียวกันปีก่อน ที่ผิดปกติจากผลของฐานที่ต่ำจากอุทกภัย รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายนมีดังนี้

การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.8 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เพิ่มขึ้นจากฐานการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ ประกอบกับการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ยังขยายตัวดี ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตาม สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.8 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อรองรับการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าขยายตัวจากเดือนก่อน ตามความต้องการจากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัวโดยการส่งออกสินค้าในเดือนนี้มีมูลค่า 19,332 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 6.7 และหากไม่รวมทองคำ การส่งออกจะขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 7.8 ตามการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และการส่งออกเหล็กและโลหะที่เร่งตัว แต่การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวตามปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลง หลังเร่งส่งออกไปในเดือนก่อน

การใช้จ่ายภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำ เข้าสินค้า (ไม่รวมทองคำ ) ขยายตัวจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.6 จากการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปิโตรเลียม อาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และยานยนต์ ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 18,705 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 1.9 แต่หากไม่รวมทองคำ การนำเข้าจะขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 5.2 ตามการนำเข้าสินค้าทุน และการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง

สำหรับภาคเกษตร รายได้เกษตรกรขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 0.2 ตามผลผลิตข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงจากเดือนก่อน

ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.3 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซียเป็นสำคัญ สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศ

ภาครัฐ รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายด้านการดำเนินงาน โดยเฉพาะรายจ่ายประเภทเงินโอนและค่าจ้างเงินเดือน และรายจ่ายด้านการลงทุน สำหรับรายได้นำส่งอยู่ในเกณฑ์ดี จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดขายยานยนต์ที่ขยายตัวสูงจากโครงการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก รายจ่ายที่สูงกว่ารายได้ส่งผลให้ดุลเงินสดขาดดุล 135 พันล้านบาท

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.74 ตามราคาอาหารสดที่ลดลงในหมวดผักและผลไม้ เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.85 ดุลการชำระเงินเกินดุลตามการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ