อุตสาหกรรมกุ้งไทยปี 2555 และแนวโน้มปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 28, 2012 13:06 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ถนอมจิตร สิริภคพร

ธันวาคม 2555

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2553-2554) อุตสาหกรรมกุ้งของไทยได้รับอานิสงค์จากผลผลิตกุ้งโลกที่ปรับลดลงจากประเทศผู้ผลิตสำคัญประสบปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาด ทำให้ราคากุ้งปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ ในปี 2554 แม้ว่าไทยเราจะมีปริมาณการส่งออกลดลง แต่ทว่ามูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์กลับสูงถึงกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรภายในประเทศ (Local Content) ทำให้เกิดการสร้างงานให้กับผู้เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิตอีกเป็นจำนวนมาก

ปี 2555 หลายปัจจัยรุมเร้า

สำหรับปี 2555 อุตสาหกรรมกุ้งไทยไม่สดใสนัก เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤติราคากุ้งตกต่ำอย่างหนักในช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม 2555 สาเหตุจากความต้องการในตลาดหลักลดลงจากการประสบวิกฤตเศรษฐกิจและมีคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น แม้ไทยจะอยู่ในฐานะผู้ผลิตที่มีศักยภาพและเป็นผู้ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์อันดับหนึ่งในตลาดโลก แต่ทว่ากลับต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคทั้งจากในและนอกประเทศที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมกุ้งของไทยในระยะต่อไป หากไม่ได้วางแผนเตรียมรับหรือหาแนวทางแก้ไขให้ได้ทันกับสถานการณ์ โดยปัญหาดังกล่าวสรุปเป็น 3 ประการสำคัญ คือ

ประการแรก ภาวะแข่งขันสูง บั่นทอนศักยภาพและโอกาสการทำธุรกิจแบบเดิม เนื่องจากปัจจุบัน คู่แข่งสำคัญ อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และเม็กซิโก เริ่มมีปริมาณผลผลิตมากเพียงพอสามารถเข้ามาเสนอขายแข่งในตลาดทัดเทียมกับไทยมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อในตลาดหลักที่มีความต้องการลดลงมีทางเลือกเพิ่มขึ้น จึงเริ่มชะลอการซื้อจากไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 และชัดเจนมากขึ้นในปี 2555 เห็นได้จากตัวเลขปริมาณและมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี กระทั่งล่าสุดในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2555 ไทยมีปริมาณการส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง) จำนวน 277,152 ตัน คิดเป็นมูลค่า 75,666 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.5 และ 14.9 โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกต้องเร่งปรับตัวสร้างจุดเด่นของสินค้า รวมทั้งบริหารการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานในต้นทุนที่ต่ำสุด เพื่อสนองตอบความต้องการของตลาดและเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ประการที่สอง ปัญหาโรคระบาด ที่เกิดขึ้นซ้ำเติมการสูญเสียโอกาสในตลาดส่งออกของไทย โดยเริ่มระบาดอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี กระทั่งทำให้ผลผลิตกุ้งโดยรวมปี 2555 ลดลงประมาณร้อยละ 10 - 20 เนื่องมาจากโรคระบาด 3 ชนิด คือ 1) โรคไวรัสดวงขาวและโรคไวรัสหัวเหลือง ซึ่งระบาดมากทางภาคกลางและภาคตะวันออกตั้งแต่ต้นปีแถบจังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม และฉะเชิงเทรา รวมทั้งภาคใต้ช่วงปลายปี 2) โรคขี้ขาว ซึ่งพบกระจายในหลายพื้นที่แต่การระบาดยังไม่รุนแรง และ 3) โรคกุ้งตายในลักษณะเซลล์ตับตายเฉียบพลันคล้ายกับโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) โดยในไทยพบโรคลักษณะคล้ายกันนี้ทางภาคตะวันออกเฉพาะใน 2 พื้นที่คือ พื้นที่ลุ่มน้ำกระแสร์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และพื้นที่อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ซึ่งปัจจุบันหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเล็งเห็นถึงความรุนแรงของโรคใหม่ชนิดนี้ จึงได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้และสาเหตุของปัญหาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเพื่อหาแนวทางป้องกันเพราะโรคนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้โรคตายด่วนได้พบการระบาดในจีน เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา ทำให้ผลผลิตในประเทศดังกล่าวขาดแคลนอย่างหนักกระทั่งต้องนำเข้ากุ้งจากไทยและอินเดียเพื่อแปรรูปส่งออกตามคำสั่งซื้อที่รับไว้

ประการที่สาม ปัญหาการกีดกันทางการค้า จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking In Persons Report - TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่จัดลำดับให้ไทยอยู่กลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List หรือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำแต่ยังใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยจะครบกำหนด 2 ปีติดต่อกันในสิ้นปี 2555 นี้ ซึ่งหากไทยไม่สามารถแสดงให้สหรัฐอเมริกาเห็นว่ามีความพยายามหรือพัฒนาการที่ควรปรับระดับขึ้น หรือมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับการยกเว้นจากการถูกปรับลดระดับโดยอัตโนมัติ จะต้องถูกปรับลดชั้นไปอยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 3 หรือประเทศที่ไม่ดำเนินการตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำและไม่ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาโดยอัตโนมัติ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดการต่อต้านสินค้าประมงจากไทย จึงเท่ากับว่าตอนนี้ไทยมีความเสี่ยงมากที่จะถูกลดระดับชั้นลงเป็น Tier 3 ในปี 2556 ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้เริ่มออกมาตรการกีดกันกุ้งไทยแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยห้ามหน่วยงานราชการทั้งหมดสั่งซื้อกุ้งจากไทย

จากปัญหาดังกล่าว ภาครัฐและเอกชนของไทยต่างพยายามร่วมมือกันแก้ไข ล่าสุดได้มีนโยบายผลักดันและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทยปี 2555 - 2556 ใน ส่วนของการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมง และข้อเสนอมาตรการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อปกป้องสายการผลิตและการส่งออกสินค้าประมงของไทย

นอกจากนั้น กรมประมงยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ จัดทำแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) สำหรับอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล โดยทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติและคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการด้านการประมง เพื่อปีหน้าไทยจะได้ถูกจัดอันดับให้ดีขึ้นหรือหลุดพ้นจากการถูกจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากที่ภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ควรเร่งสื่อสารและประชาสัมพันธ์มิติที่ดีของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ปฏิบัติต่อแรงงาน เผยแพร่ออกสู่ประชาคมโลกให้เข้าใจอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มกุ้งไทยปี 2556

ปี 2556 คาดว่า ราคากุ้งของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและโรคระบาดรุมเร้า แต่ก็เป็นปีที่ท้าทายสำหรับการส่งออกของไทยด้วย เนื่องจากมีประเทศผู้ผลิตกุ้งเข้ามาแข่งขันในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นทั้งเอกวาดอร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ประกอบกับตลาดหลักส่งออกกุ้งของไทยทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินในสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อและปัญหาทางการคลังของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีปัญหาการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องร่วมมือกันและเร่งปรับตัว โดย 1) ผู้ส่งออกควรเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้มีความหลากหลายมากขึ้น 2) แสวงหาตลาดใหม่เพิ่มเพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามากจนเกินไป และ 3) ในส่วนของภาครัฐควรหาแนวทางการรักษาโรคระบาดในกุ้งโดยเฉพาะโรคตายด่วนที่ระบาดมากขึ้น รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาการถูกกล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กของสหรัฐอเมริกา เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งโดยรวมของไทย


          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ