การเปิดเสรีภาคบริการภายใต้ AEC : ไทยได้อะไร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2013 11:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวจิดาภา ช่วยพันธุ์

การเปิดเสรีภาคบริการ(*1)เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้มีการเจรจาเปิดเสรีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service: AFAS) ที่ลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 ขณะนี้เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ที่ทุกประเทศได้เปิดการเจรจากันอย่างต่อเนื่อง แต่การเปิดเสรีในแต่ละสาขาของภาคบริการ ยังล่าช้ากว่าเปาหมายที่วางไว้อยู่มาก ทั้งการเปิดเสรีสาขาบริการเร่งรัด 4 สาขา ได้แก่ สุขภาพ ท่องเที่ยว การขนส่งทางอากาศ และ e-ASEAN (คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม) ที่จะต้องอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ภายในปี 2553 ซึ่งมีหลายประเทศได้ขอยืดเวลาออกไป รวมถึงสาขาบริการ ที่เหลือที่จะต้องอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 และลดข้อจำกัดอื่น ๆ ในการเข้าสู่ตลาด โดยการดำเนินการทั้งหมดนี้ จะต้องให้บรรลุเปาหมายภายในปี 2558 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปิด AEC ยกเว้น การเปิดเสรีภาคการเงินที่มีการเลื่อนออกไปจนถึงปี 2563 ดังนั้น ภาคบริการบางสาขาอาจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเตรียมตัวรับมือกับการเปิด AEC ที่จะถึงนี้

ประเทศไทย เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN) ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซีย มีภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในปี 2554 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 44 ของ GDP

เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของภาคบริการ จะเห็นว่าภาคบริการเริ่มมีบทบาทมากขึ้นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย การให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีภาคบริการจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะการเปิดเสรีจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในไทยได้มากยิ่งขึ้น เป็นผลให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุน การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในประเทศ จากข้อมูลสถิติของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า การจ้างแรงงานหญิงและชายในภาคบริการ ปี 2552 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 43 และ 35 ของการจ้างแรงงานหญิงและชายในภาคเศรษฐกิจทั้งหมด นอกจากนี้ ภาคบริการที่มีคุณภาพจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศ เนื่องจากภาคบริการถือเป็นปจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการผลิตในภาคอื่น ๆ

โดยภาคบริการสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย ได้แก่

1. โลจิสติกส์ มีความสำคัญต่อภาคการผลิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน รวมถึงการค้าชายแดน ที่จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากการเปิด AEC ซึ่งโลจิสติกส์ไม่ได้เกี่ยวกับการขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการจัดซื้อจัดหา การผลิต การจัดเก็บสินค้าคงคลัง การกำจัดของเสีย และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีหลักการจัดการวางแผนกระจายสินค้าและบริการจากแหล่งผลิตสู่มือผู้บริโภคเพื่อให้เกิดค่าใช้จ่ายโดยรวมในการกระจายสินค้าต่ำที่สุด ดังนั้น การเปิดเสรีภาคบริการสาขาโลจิสติกส์ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย สามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและขยายบริการไปยังอาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริการเกิดความหลากหลายและครอบคลุมพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ในที่สุดจะเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศลงได้เอื้อต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจอื่นต่อไป

2. ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ จึงทำให้มีข้อจำกัด ด้านกฎระเบียบและกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรี ปจจุบันไทยมีการเปิดให้นักลงทุนอาเซียนสามารถถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมได้ถึงร้อยละ 70 คือ บริการเทเลกซ์ โทรเลข และโทรสารซึ่งเป็นสาขาที่ไม่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมากนัก สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ การสร้างฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน หากมีการเปิดเสรีในธุรกิจโทรคมนาคม จะทำให้มีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในตลาดมากขึ้น เป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้รับบริการ ที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในธุรกิจนี้ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่จะลดต่ำลง ทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ และส่งผลให้ค่าบริการลดต่ำลงในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการขยายโอกาสการลงทุนให้กับธุรกิจอื่นๆ อีก

3. ภาคการเงิน เป็นสาขาหนึ่งที่จะเปิดเสรีภายใต้การจัดตั้ง AEC ซึ่งเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก ในฐานะโอกาสสำคัญในการสร้างผลตอบแทนจากตลาดเงินและตลาดทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน การเปิดเสรีภาคการเงินจะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การเชื่อมโยงตลาดทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนยังเป็นการเพิ่มแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนไทยในการออมและการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีภาคการเงินจะมีขึ้นในปี 2563 เนื่องจากระบบการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกันมาก หากมีการเร่งเปิดเสรีเร็วเกินไปจะทำให้ภาคการเงินต้องเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน

ภาคบริการที่กล่าวมาข้างต้น ถือได้ว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจอื่นอย่างมาก เมื่อพิจารณาถึงระดับความง่ายของการลงทุน โดยชาวต่างชาติแล้ว การลงทุนในภาคบริการของไทยยังคงมีความยากอยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยเฉพาะอุปสรรคด้านนโยบายและกฎหมายภายในประเทศ ที่ไม่เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ภาคบริการของไทยต้องเสียโอกาสในการได้รับการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงขาดแคลนเงินทุนที่จำเป็นในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น การเปิดเสรีภาคบริการ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพื่อไม่เป็นการปิดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังจากการรวม AEC

*(1)สาขาการค้าบริการ ได้แก่ ท่องเที่ยว สุขภาพ การขนส่ง การสื่อสารและโทรคมนาคม โลจิสติกส์ การเงิน วิชาชีพ ก่อสร้าง จัดจำหน่าย การศึกษา สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ