ตลาดการเงินกับการพัฒนาธุรกิจและประเทศชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 14:14 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวปาฐกถา

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง “ตลาดการเงินกับการพัฒนาธุรกิจและประเทศชาติ” ในงานสัมมนา “ธุรกิจก็เติบใหญ่ ชาติไทยก็วัฒนา”

และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ครั้งที่ 3 ประจำปี 2555

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2556 เวลา 10.00 — 10.30 น.

ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและดีใจที่ได้เห็นความสำเร็จของท่านในการพัฒนาอุตสาหกรรมจัดการลงทุนของไทยให้มีการขยายตัวก้าวหน้าขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนรู้จักและคุ้นเคยกับการลงทุนผ่านกองทุนในฐานะผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นทางเลือกนอกจากการฝากเงินกับสถาบันการเงินหรือการลงทุนในหลักทรัพย์ด้วยตนเอง ทำให้อุตสาหกรรมจัดการลงทุนขยายตัว มีการแข่งขัน และมีการนำเสนอนวัตกรรมการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน กึ่งการเงิน หรือไม่ใช่การเงิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งว่าระบบการเงินของประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันนี้เราคงต้องถือว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมจัดการลงทุนและบริการทางการเงินด้านอื่น ๆ วมทั้ง ความแข็งแกร่งของระบบการเงินไทย เป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้เราผ่านพ้นภาวะความผันผวนจากวิกฤติการณ์ในตลาดการเงินโลกมาได้อย่างราบรื่น ที่ปรากฏให้เห็นชัดในวันนี้ คือ รากฐานที่มั่นคงที่จะเอื้อให้เราก้าวต่อไปสู่การพัฒนาอีกระดับหนึ่งอย่างฉับไว มีสติ และมีจุดหมายร่วมกันที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้น การเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และรุดหน้าตลอดเวลา ประเทศและภาคธุรกิจไม่เพียงต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแต่ยังจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า เพื่อฉกฉวยโอกาสในการที่จะเติบโต ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงที่จะมาพร้อม ๆ กันด้วย เพื่อให้เราสามารถพัฒนาและยกระดับประเทศของเราและความเป็นอยู่ของคนในชาติให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน สำหรับพวกเราที่ทำงานในภาคการเงิน ย่อมตระหนักดีถึงความสำคัญของภาคการเงินในฐานะเส้นโลหิตที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและสนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ ซึ่งสะท้อนความจำเป็นที่พวกเราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันต่อไป

การสัมมนาในวันนี้ได้กำหนดหัวข้อปาฐกถาไว้คือหัวข้อ “ตลาดการเงินกับการพัฒนาธุรกิจและประเทศชาติ” สอดรับกับสถานการณ์รอบตัวเราอย่างยิ่ง เพราะทำให้เรามีโอกาสได้มารับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งกำหนดบทบาทของตนเองสำหรับอนาคตของประเทศไทยต่อไป

ผมอยากจะขอเริ่มจากการทบทวนภาพของประเทศไทยที่เราอยากเห็นว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงมาดูว่าตลาดการเงินจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเดินไปสู่เป้าหมายอนาคตประเทศไทยอย่างไร ความท้าทายที่เราต้องเผชิญ พร้อมข้อเสนอแนะถึงบทบาทที่แต่ละภาคส่วนสามารถดำเนินการได้เพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมกัน

อนาคตของประเทศไทยที่เราอยากเห็น

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นประเทศไทยมีความมั่งคั่ง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีมีการกระจายรายได้ กระจายโอกาสในการเติบโตอย่างทั่วถึง ไม่มีความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งจะทำให้ประเทศของเรามีการพัฒนาและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สามารถก้าวพ้นการติดกับดักของความเป็นประเทศรายได้ปานกลางหรือ middle income trap ที่เราและหลายประเทศประสบอยู่ไปได้ โดยผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจไทย และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งจะช่วยให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่จากการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชั่วคราวหรือการสร้างความมั่งคั่งให้กับเฉพาะบางกลุ่มธุรกิจ ซึ่งยิ่งทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาที่เรื้อรังและแก้ไขยากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่หลาย ๆ ประเทศเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ที่เราจะละเลยไม่ได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน คือ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อลูกหลานของเราจะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขและมีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอต่อไปในอนาคต

ตลาดการเงินจะมีบทบาทอย่างไรในการสร้างอนาคตของประเทศ

ในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ สร้างความมั่งคั่ง และการเติบโตอย่างยั่งยืน และทั่วถึงนั้น หากจะให้บรรลุเป้าหมายนี้ จะต้องมองหาโอกาส และเตรียมการด้านบุคลากร กระบวนการผลิตการบริหารจัดการภายในประเทศ ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะฉกฉวยประโยชน์เมื่อโอกาสมาถึงซึ่งจังหวะเวลาขณะนี้ โอกาสที่กำลังเปิดให้เรามาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

โอกาสจากภายนอกประเทศ มาจากการที่ขณะนี้เอเชียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันเอเชียเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก อาเซียนกำลังจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประเทศเพื่อนบ้านเรา หรือ CLMV เริ่มเปิดประเทศและก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจระบบตลาดเสรี การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคจึงเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตรสูงมาก เราควรใช้โอกาสนี้ เชื่อมต่อเข้ากับวงจรการเติบโตในภูมิภาคนี้เพื่อนำความมั่งคั่งเข้าสู่การเติบโตภายในของประเทศ (connectivity)

อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของธุรกิจไทยในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับตลาดที่เปิดกว้าง และการแข่งขันที่มากขึ้น ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมพร้อมที่จะดำเนินนโยบายทั้งในเชิงรุก และเชิงรับ ในเชิงรุกนั้นจะต้องเร่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในการขยายแหล่งวัตถุดิบฐานลูกค้า ฐานการผลิต เครือข่ายธุรกิจ หรือการวาง position ประเทศให้เป็นศูนย์กลาง logistics hub รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นฐานการผลิต และแหล่งกระจายสินค้า หรือให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ ในเชิงรับนั้น ก็ต้องมีความพร้อมรับการแข่งขันทางธุรกิจที่จะมีความเข้มข้นขึ้น จากการเปิดตลาด รวมทั้งต้องพร้อมรับความผันผวนและผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ

ในขณะที่ภายในประเทศเราเองนั้น ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก โดยการต่อยอดจากธุรกิจและการผลิตภายในประเทศเพื่อพัฒนาให้เป็น high value-added economy ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องมีการยกระดับศักยภาพการผลิต การวิจัยและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการริเริ่มสร้างสรรค์ และการผลักดันประเทศไปสู่สังคมแห่งฐานความรู้ (knowledge-based society) ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการดำเนินการ

สำหรับภาคธุรกิจ นอกจากการขยายตัวเพื่อรองรับโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้น ภาคธุรกิจยังต้องเร่งการปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยเปลี่ยนจากการใช้กลยุทธ์ที่ใช้การแข่งขันด้วยการใช้แรงงานและวัตถุดิบราคาถูก มาเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการบริการการปรับปรุงคุณภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ โดยการลงทุนในการวิจัยและ technology ต่าง ๆ

ส่วนภาครัฐเองก็ต้องให้การสนับสนุน โดยการเร่งเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายด้านการคมนาคมขนส่งและการสื่อสารเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและขยายความเจริญออกไปจากที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ๆ ให้กระจายไปสู่ชนบทอย่างทั่วถึง (urbanization) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและกระจายโอกาสให้กับประชาชนในภูมิภาค โดยในการดำเนินการในระยะแรก อาจเริ่มที่หัวเมืองสำคัญหรือเขตเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคก่อน แล้วค่อยกระจายตัวออกไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

ในภาวะการณ์ที่ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวและภาครัฐเร่งลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างอนาคตประเทศนั้น จำเป็นต้องใช้เงินทุนระยะยาวจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินมีบทบาทสำคัญในฐานะการเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ หรือเป็นช่องทางเชื่อมโยงเงินจากผู้ออมหรือผู้ลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศไปสู่ผู้ระดมทุน

ที่ผ่านมาตลาดการเงินของไทยมีการพัฒนาขึ้นมาก จากเดิมที่สินเชอื่ ภาคสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนหลักของภาคธุรกิจ แต่ในปัจจุบัน ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ได้เติบโตขึ้นมาเป็นทางเลือกในการระดมทุนให้แก่ทั้งภาคธุรกิจ และภาครัฐ

ตัวอย่างเช่น ในอดีต เงินฝากจากสาขาของธนาคารพาณิชย์ในต่างจังหวัดไม่มีโอกาสที่จะถูกเปลี่ยนเป็นสินเชื่อเพื่อกลับเข้าไปสร้างธุรกิจในท้องถิ่นนั้นมากนัก แต่มักจะถูกโอนมาปล่อยเป็นสินเชื่อให้แก่ธุรกิจในส่วนกลาง และก่อให้เกิดความเจริญเฉพาะในส่วนกลาง แต่วันนี้ ธุรกิจในภูมิภาคมีโอกาส มีโครงการของตัวเองที่จะได้รับการจัดสรรเงินทุน ไม่เพียงแต่ในรูปของเงินกู้จากสถาบันการเงิน แต่ยังรวมถึงโอกาสในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุนจากประชาชนโดยตรงอีกด้วย

ในระยะต่อไป ตลาดการเงินจะเป็นตัวจักรสำคัญในการสนับสนุนการยกระดับของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง

เราได้ยินเรื่องราวของธุรกิจทุกขนาดที่ส่งต่อจากรุ่นพ่อผู้บุกเบิกสู่รุ่นลูกซึ่งไปศึกษาเล่าเรียนมาจากต่างประเทศ คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตและการทำงานในต่างประเทศ และพร้อมที่จะพาธุรกิจของครอบครัวออกไปเติบโตในต่างประเทศ ตลาดการเงินเองก็ต้องพร้อมที่จะสนับสนุนบริการทางการเงินทสี่ อดคล้องกับความต้องการและความสามารถในการบริหารจัดการของผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน

สถาบันการเงินมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจในการระดมทุนเพื่อออกไปลงทุนในต่างประเทศได้หลายรูปแบบ ภาคธุรกิจอาจมีความต้องการทั้งการกู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงิน หรือ การระดมทุนในประเทศโดยการออกตราสารหนี้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. เพิ่งผ่อนคลายให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกในประเทศไทยได้ เป็นการเพิ่มช่องทางในการระดมทุนให้กับภาคเอกชน โดยสถาบันการเงินสามารถช่วยสนับสนุนในด้านการจัดจำหน่าย และการบริหารความเสี่ยงได้ ในทางกลับกัน ผู้ออมเองก็มีความต้องการลงทุนในเครื่องมือการออมที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะที่มีอยู่ในประเทศ แต่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับชอื่ เสียงของผู้ออกตราสารที่อยู่ในต่างประเทศ สถาบันการเงินจึงเป็นตัวกลางที่สำคัญในการนำผู้ออมและผู้ระดมทุนมาเจอกันข้ามพรมแดน

สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมหรือการขนส่งของประเทศ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองในภูมิภาค ตลาดการเงินมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนแหล่งเงินทุนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น infrastructure fund หรือการสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูป public private partnership รวมทั้งการสร้างฐานนักลงทุนระยะยาว เพื่อรองรับความต้องการระดมทุนของภาครัฐ

ในขณะเดียวกัน ตลาดการเงินจะต้องพร้อมสำหรับการเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ SMEs รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น การระดมทุนผ่านรูปแบบของ venture capital และ private equity เนื่องจากธุรกิจใหม่ที่จะแจ้งเกิดขึ้นมาเป็นนวัตกรรม หรือปรากฏการณ์ หรือ กระแสใหม่นั้น ย่อมมีระยะเวลาการคืนทุนที่ต่างจากธุรกิจดั้งเดิม จึงอาจต้องอาศัยช่องทางการระดมทุนที่แตกต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งระดมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศทั้งสิ้น

นอกจากนี้ โอกาสและความเสี่ยงที่แตกต่างของธุรกิจใหม่ ๆ ยังต้องอาศัยการวิเคราะห์โครงการที่ต่างไปจากรูปแบบเดิมที่คุ้นเคย บุคลากรในภาคการเงินในระยะต่อไป จึงมีแนวโน้มที่จะมาจากหลากหลายวิชาชีพ (multidisciplinary) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากศาสตร์และวิชาการหลาย ๆ แขนงในการสนับสนุนลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้ในตลาดการเงินไทย คือ การมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ในภาวะที่ตลาดการเงินของโลกผันผวนมากขึ้น และธุรกิจการเงินไทยเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระบบการเงินโลก ดังเช่น 3-4 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ เช่น การพัฒนา currency futures และ interest rate futures เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางหรือนักลงทุนรายย่อยที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงิน

ในขณะที่เราพร้อมจะกระโดดเข้าแข่งขันในธุรกิจรุ่นใหม่ เราก็ต้องไม่ลืมความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนไทยกินดี อยู่ดี มีการกระจายรายได้และกระจายโอกาสที่ดีขึ้น

การพัฒนาเศรษฐกิจให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความทั่วถึงและเป็นธรรมของระบบเศรษฐกิจการเงินนั้น จำเป็นต้องลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงิน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลในเรื่องความไม่รู้เท่าทันบริการทางการเงินที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น โดยต้องให้ความรู้และปลูกฝังวินัยในการออมและการจัดการด้านการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

กล่าวคือ บทบาทของตลาดการเงินก็จะต้องมีบริการทางการเงินในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการรายย่อย และเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ เช่น รูปแบบ bank agent หรือ micro finance

นอกจากนี้ ต้องมีการดูแลคุ้มครอง และให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เขารู้รักษาสิทธิของตัวเอง และมีภูมิคุ้มกันทางปัญญา เช่น พนักงานธนาคารที่ขายหน่วยลงทุนจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนหรือผู้ออม ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่างจากเงินฝากอย่างไร เพื่อมิให้กลับมาเป็นความเสี่ยงทางด้านชื่อเสียงของสถาบันการเงินเอง

ความท้าทายของตลาดการเงินในการสร้างอนาคตประเทศไทย

การไปสู่เป้าหมายอนาคตประเทศได้ ทุกภาคส่วนต้องเตรียมตัวรองรับความท้าทายหรือความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัว และความซบั ซ้อนที่เพิ่มขึ้นของตลาดการเงินในอนาคต

อันดับแรก การเติบโตของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศย่อมหมายถึงการเปิดรับความความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจต่างประเทศ มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาในต่างประเทศและเผชิญกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจผันผวนมากขึ้น เครื่องมือบริหารความเสี่ยงในตลาดการเงินจึงมีบทบาทสำคัญที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับภาคธุรกิจในยามที่เศรษฐกิจมีความผันผวน

ในส่วนของภาครัฐเอง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการยกระดับประเทศไทย ย่อมหมายถึงความต้องการเงินทุนระยะยาวจำนวนมหาศาล ซึ่งมีผลต่อภาระหนี้สาธารณะทจี่ เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้การระดมทุนภาครัฐ โดยยังคงรักษากรอบความยั่งยืนทางการคลังไว้ให้ได้ ความท้าทายของภาครัฐจึงเป็นการปรับการใช้จ่ายภาครัฐ จากการเป็น catalyst ในการกระตุ้นและสนับสนุนการบริโภค มาเป็นการสนับสนุนการลงทุน (crowding in private investment) ในขณะที่ตลาดการเงินไทยก็ต้องช่วยแสวงหาเครื่องมือระดมทุนใหม่ ๆ หรือการผลักดันการร่วมลงทุนโดยภาคเอกชน เพื่อให้การลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศสามารถดำเนินต่อไปได้ ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ในด้านของการกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำย่อมส่งผลกระทบต่อระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น จำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการก่อหนี้ตามกระแสของบริโภคนิยมกับการก่อหนี้อย่างสร้างสรรค์ ซงึ่ หมายถึงการก่อหนี้เพื่อสร้างทรัพย์สินใหมที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน และช่วยยกระดับความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้นย่อมหมายถึงความซับซ้อนในการกำกับดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ความโปร่งใส วินัยของผู้ร่วมตลาด ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเช่นที่เห็นตัวอย่างกันมาแล้วในสหรัฐฯ เพราะเมื่อสถาบันการเงินประสบปัญหาและรัฐบาลต้องนำภาษีอากรของประเทศมาใช้จ่ายเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมก็จะมีกระแสต่อต้านบุคลากรในวงการการเงิน รวมทั้งเกิดผลกระทบเป็นปัญหาเชื่อมโยงกันต่อไป ดังที่เราเห็นเป็นข่าวในระยะที่ผ่านมา

แต่ละภาคส่วนจะร่วมมือได้อย่างไร

ความร่วมมือร่วมใจ หรือ constructive engagement ของแต่ละภาคส่วนจะช่วยผลักดันให้เราสามารถก้าวข้ามความท้าทายข้างต้น เพื่อเดินไปถึงเป้าหมายอนาคตประเทศที่เราทุกคนต้องการหรือ common vision ที่เรามีร่วมกัน

อันดับแรก คือ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทางการค้าการลงทุน ควรเน้นการลงทุนที่เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จัดทำบัญชีที่ได้มาตรฐาน และเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

ภาครัฐเองมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ทั้งภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจเดินหน้าในทิศทางที่สอดรับกัน ด้วยการดูแลให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะเอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการลงทุน แนวนโยบาย ทิศทางและแผนการลงทุนด้านต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจน และมีการสื่อสารต่อสาธารณะชนอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เอกชนที่จะร่วมลงทุน รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่ดีในการระดมทุนและลงทุน ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศอย่างยั่งยืน สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสม และการปรับพฤติกรรมการออมของประชาชนให้ยาวขึ้น รวมทั้งการรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด

รูปแบบการลงทุนของภาคธุรกิจและภาครัฐในปัจจุบัน เน้นการลงทุนระยะยาวในโครงการต่าง ๆ ดังนั้น นักลงทุนหรือผู้ออมจึงมีความจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ เปิดรับโอกาสการลงทุนที่หลากหลายขึ้น เข้าใจหลักการออมและการลงทุนที่ดี รวมทั้ง ต้องรู้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงและสามารถจัดสรรพอร์ตการลงทุนของตนเองได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการใช้จ่ายในแต่ละช่วงอายุ

ในส่วนของทางการซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งรวมถึง ธปท. เอง ย่อมต้องช่วยดูแลให้ตลาดการเงินมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นแกนนำในการริเริ่มและผลักดันการพัฒนาตลาดการเงินให้สามารถจัดสรรแหล่งเงินทุนตามความต้องการระดมทุนได้อย่างเหมาะสม โดยร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความคุ้มครองและให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน มีกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมมีความทันสมัย และมีวิสัยทัศน์

ส่วนสุดท้ายที่มีความสำคัญคือสถาบันตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคาร และบริษัทจัดการลงทุน นอกจากจะมีบทบาทหลักในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างของผู้ระดมทุนและผู้ออมแต่ละกลุ่ม เช่น การพิจารณา business model ให้รองรับความต้องการของภาคธุรกิจที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ และภาคธุรกจิ SMEs แล้วนั้น ยังเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลทั้งในภาคธุรกิจจริงและภาคการเงิน และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการให้ความสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ ในฐานะตัวกลางทางการเงินธนาคาร หรือบริษัทจัดการลงทุนยังต้องดำรงไว้ซึ่งบทบาทในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งในการระดมทุนและลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของผู้ออมและผู้ต้องการเงินทุน และที่สำคัญต้องมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่ดี เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจไทย

ผมมีความเชื่อมั่นว่าถ้าพวกเรามีความมุ่งมั่น และร่วมแรงร่วมใจกัน ในการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสมแล้ว ก็สามารถจะนำพาประเทศไทยให้ก้าวข้ามพ้น middle income trap มีความมั่งคั่งที่ยั่งยืนในระยะยาวและมีความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ลดลงได้

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ