ทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 22, 2013 13:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุนทรพจน์

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

งานแถลงนโยบาย

เรื่อง “ทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในปี 2556”

ณ ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันอังคารที่ 22 มกราคม 2556 เวลา 10.30 น.

ผมขอขอบคุณผู้แทนสื่อมวลชนและผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมรับฟังการแถลงนโยบายประจำปี 2556 ของแบงก์ชาติในวันนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ที่ประเทศชาติต้องเผชิญอุปสรรคและความท้าทายพันธกิจหลักที่แบงก์ชาติยึดมั่นเป็นหัวใจของการดำเนินงานตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา คือ การดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคแห่งการเชื่อมโยง” ซึ่งมีนัยเชิงรูปธรรมและครอบคลุมหลายมิติกว่าความหมายทั่วไปในเชิงเทคโนโลยีและการสื่อสารมาก ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการเงินกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน หรือกลุ่ม CLMV ที่ขณะนี้เริ่มเห็นการค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นชัดเจน หรือ การเชื่อมโยงภายในประเทศด้วยกัน สะท้อนจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ในต่างจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เราคนไทย และเพื่อนพี่น้องของเราจะเติบโตไปด้วยกัน อย่างไรก็ดี ความเชื่อมโยงดังกล่าวจะมีความซับซ้อนขึ้น และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) หากขาดความสมดุล แม้จะเป็นการก่อตัวจากจุดเล็ก ๆ จุดใดจุดหนึ่ง แต่ความเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนก็อาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของระบบได้

แบงก์ชาติในฐานะ หนึ่งในองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินที่ดีและมั่นคง เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเติบโตได้อีกทั้งมีความเข้มแข็งและยืดหยุ่นพอที่จะเอาตัวรอดในภาวะที่มีการแข่งขันและความเสี่ยงสูงตลอดจนมีส่วนช่วยในการยกระดับขีดความสามารถของภาคเอกชนไทย เพื่อขยายโอกาสในการเติบโตในต่างประเทศ โดยไม่ละเลยที่จะดูแลความแข็งแกร่งและความปลอดภัยของระบบฯเพื่อสร้างความมั่นใจของประชาชนและภาคธุรกิจ

ความท้าทายในการดำเนินงานของผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจทั้งหลาย รวมถึงแบงก์ชาติในปีนี้ จึงอยู่ที่การรักษาสมดุลของนโยบายในด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานจากทั้งภายในองค์กรและระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถเติบโต ได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และดูแลคนไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนดังเช่นปณิธานที่ตั้งไว้

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจการเงิน และการดำเนินนโยบายในปี 2555

ท่านผู้มีเกียรติครับ

หากเปรียบเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาดั่งเช่นเรือที่กำลังลอยลำอยู่ท่ามกลางมรสุม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและมีความเสี่ยงสูง เศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัย และภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวน ความท้าทายของผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจจึงอยู่ที่จะประคับประคองเรือให้แล่นไปยังจุดหมายอย่างปลอดภัยได้อย่างไร ซึ่งตลอดช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงและความผันผวนต่าง ๆ โดยอุปสงค์ภายในประเทศเปรียบได้กับเสากระโดงเรือที่แข็งแรงและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้กับเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา และเมื่อได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นตลอดช่วงมรสุมดังกล่าว ซึ่งผมขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกันอย่างดีตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

สำหรับแบงก์ชาติในปีที่ผ่านมา การพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินได้ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จะเห็นได้ว่านโยบายการเงินตลอดทั้งปี 2555 ผ่อนปรนต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยปรับลดครั้งแรกในช่วงต้นปีเพื่อช่วยสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติได้เร็วขึ้น และปรับลดลงอีกครั้งในช่วงปลายปี เพื่อช่วยรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และรักษาแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศให้สามารถประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ในขณะเดียวกันก็ดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด และรักษาเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมให้อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ริเริ่มให้มีการจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากมุมมองที่หลากหลาย เพื่อประโยชน์ในการติดตามและประเมินความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจและการเงิน นอกจากนี้เพื่อขยายโอกาสให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้อย่างสะดวกและกว้างขวางขึ้นแบงก์ชาติได้ทยอยผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ต่อเนื่องจากที่ได้ดำเนินการมาในช่วงก่อนหน้า และกระทรวงการคลังก็จะร่วมดำเนินการในส่วนที่อยู่ภายใต้การดูแลด้วย

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ประสบการณ์ของหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการเงินโลกครั้งล่าสุด แสดงให้เห็นแล้วว่า นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินได้แบงก์ชาติทั่วโลก จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลการดำรงเงินกองทุนตามแนวทาง Basel III โดยเน้นเรื่องคุณภาพของเงินกองทุนมากขึ้น และกำหนดให้ดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเสี่ยงในยามวิกฤตด้วยรวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเครดิตให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อช่วยสร้างเสริมเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงินอันจะเป็นผลดีต่อระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังได้พัฒนาระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มใช้ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค (Imaged Cheque Clearing and Archive System - ICAS) เพื่อให้บริการลูกค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) 1213 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ของแบงก์ชาติ การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน รวมทั้งการให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสาธารณชน

แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2556

ท่านผู้มีเกียรติครับ

เมื่อเรามองไปข้างหน้า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมดูจะลดลงไปบ้าง จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้นว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่มีผลต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า รวมทั้งการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะบังคับใช้ในปีภาษี 2556 นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง การซ่อมสร้างในบางอุตสาหกรรมที่ยังไม่เสร็จสิ้น รวมทั้งการลงทุนที่สืบเนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกจะเริ่มทยอยฟื้นตัวจนกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องหลังจากที่แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐบางส่วนทยอยสิ้นสุดลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องอย่างไรก็ดี แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ 2 อาจไม่ได้ส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อมากนักเนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ผนวกกับการปรับราคาสินค้ายังทำได้ยากในภาวะที่การแข่งขันทางธุรกิจสูง แต่ก็ยังต้องติดตามผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

ความท้าทายกับการดำเนินนโยบายในปี 2556

เศรษฐกิจปัจจุบันเปรียบเหมือนเรือที่ได้แล่นผ่านพ้นมรสุมใหญ่ไปแล้ว แต่คลื่นลมก็ยังแรงและมีเค้าลางของเมฆที่อาจก่อตัวเป็นพายุในน่านน้ำข้างหน้าได้อีกครั้ง โจทย์สำคัญของผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ความเสี่ยงที่อาจแอบแฝงก่อตัวอยู่ในเวลานี้ คือ ทำอย่างไรให้เรือแล่น ไปสู่จุดหมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด การดำเนินนโยบายที่มองไปข้างหน้าและมีลักษณะ proactive เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งอย่างที่ผมได้เรียนในช่วงต้นว่า ความท้าทายในเวลานี้อยู่ที่การรักษาสมดุลของการดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อให้การสร้างประสิทธิผลสูงสุดของนโยบายนั้น ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ที่ยั่งยืนของประชาชน กล่าวคือ ความมั่นคงปลอดภัย และความมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย ซึ่งผมจะขออนุญาตกล่าวสรุปส่วนที่แบงก์ชาติรับผิดชอบต่อไป

ด้านนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ในการดำเนินนโยบายการเงิน เป้าหมายหลักคือการดูแลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ โดย กนง. จะพิจารณาตัดสินนโยบายจากความเสี่ยงทั้งด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งด้านเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งในปีนี้ ความท้าทายแรกจะอยู่ที่การรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพราะหากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นต้นทุนในการกู้ยืมไว้ในระดับต่ำนานเกินไปอาจจูงใจให้ภาคเอกชนก่อหนี้สินมากเกินควรหรือกระตุ้นให้ผู้ฝากเงินหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามากขึ้น และอาจนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลในระบบการเงินหรือภาวะฟองสบู่ได้ในอนาคต การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันจึงต้องทำควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินดังเช่นที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้พยายามให้ความสำคัญในการติดตามประเด็นการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ

ความท้าทายที่สองอยู่ที่การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนขึ้น รวมทั้งติดตามและประเมินผลกระทบของค่าเงินบาทต่อภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งแบงก์ชาติได้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ (policy options) โดยจะพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม ที่สำคัญคือการวางโครงสร้างและเตรียมความพร้อมแก่ภาคเอกชน เช่น มาตรการรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนขาออกตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทยอยปรับปรุงตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้แบงก์ชาติได้สนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นชำระค่าสินค้า โดยเริ่มจากการใช้เงินหยวนเป็นการนำร่อง รวมทั้งลดอุปสรรคในส่วนของระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ AEC นอกจากนี้ ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนมากขึ้น หลังจากที่ปล่อยให้ค่าเงินยืดหยุ่นและเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้นในปีที่ผ่านมา

ด้านนโยบายสถาบันการเงิน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเติบโตของระบบเศรษฐกิจกับพัฒนาการของระบบสถาบันการเงินเป็นสองสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไป แม้ระบบสถาบันการเงินไทยจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างดีมาโดยตลอด แต่ยังมีหลายจุดที่ต้องผลักดันต่อเนื่อง ในแง่ของความทั่วถึงของการให้บริการทางการเงิน แบงก์ชาติจะหารือและร่วมมือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการขยายบทบาทให้ แบงก์พาณิชย์ และ non-bank ให้บริการ microfinance โดยใช้รูปแบบธุรกิจ (business model) ที่เหมาะสมกับลักษณะของความเสี่ยงและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ในแง่ของความเข้มแข็งมั่นคงของสถาบันการเงิน ก็จำเป็นต้องเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้สามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ในทุกสถานการณ์ โดยดูแลให้สถาบันการเงินมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม

นอกจากนี้ ในปีนี้ จะมีการกำหนดกรอบการให้ใบอนุญาตแก่แบงก์พาณิชย์ต่างประเทศที่จะเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 อีกทั้งจะมีการกำหนดกรอบเจรจาเพื่อเอื้อให้แบงก์พาณิชย์ไทยสามารถขยายธุรกิจตามการเปิดเสรี Qualified ASEAN Bank (QAB) ภายใต้ AEC ซึ่งผมมองว่าเป็นโอกาสดีที่แบงก์พาณิชย์ไทยจะเร่งปรับตัวและเสริมสร้างจุดแข็งให้ชัดเจนขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต ตลอดจนเพิ่มโอกาสให้รายที่มีศักยภาพสูงออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อขยายฐานธุรกิจและกระจายความเสี่ยงอีกด้วย ทั้งหมดนี้ จึงนำมาสู่ความท้าทายของการรักษาสมดุลระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการทางการเงิน ได้แก่ การขยายขอบข่ายการให้บริการทางการเงินเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ การรักษาไว้ซึ่งความเข้มแข็งมั่นคง และการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้แก่ การรักษาสิทธิและดูแลความปลอดภัย

ด้านนโยบายระบบการชำระเงิน

ในปีนี้ แบงก์ชาติตั้งเป้าที่จะขยายระบบ ICAS ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียกเก็บเช็คข้ามจังหวัด จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลา 3-5 วันทำการ ในการเรียกเก็บ ก็จะเหลือเพียง 1 วันทำการ เพื่อสนับสนุนให้เงินหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้น ต้นทุนลดลง และส่งเสริมให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ รวมทั้งส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เงินสด โดยแบงก์ชาติจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ รวมถึงการยกระดับระบบการชำระเงินไทยให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น อาทิ การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการชำระดุลเงินตราต่างประเทศในเขตเวลาที่ต่างกัน และการกำหนดมาตรฐานการชำระเงินที่เป็นสากลเพื่อให้ระบบการชำระเงินสามารถเชื่อมโยงกันได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ AEC ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน และธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมด้วย ทั้งนี้ ความท้าทายในการดำเนินนโยบายระบบการชำระเงินจึงอยู่ที่การรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเพื่อเสริมประสิทธิภาพ และการกำกับดูแลเพื่อสร้างความมั่นคง ปลอดภัยให้กับระบบการชำระเงินของไทย

สรุป

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ผมเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และมีทั้งความท้าทายที่ต้องเผชิญ และโอกาสที่ต้องเอื้อมคว้าไว้ แบงก์ชาติในฐานะหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทันกาลและเหมาะสม และเราพร้อมจับมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือและการประสานเชิงนโยบาย (policy coordination)ของทุกฝ่าย อย่างใกล้ชิดมากขึ้นจะช่วยส่งเสริมการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (common vision) ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ (constructive engagement) ไม่ถือ “ฉัน” ถือ “เธอ” แต่ถือ “เรา” เป็นที่ตั้ง เพื่อนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนไทยอย่างแท้จริง

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ