นางสาวปริญดา สุลีสถิร
สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
“การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเปรียบเหมือนห้องใหญ่ๆ ที่มีดวงไฟเพียงดวงเดียวส่องสว่างอยู่กลางห้อง แม้ดวงไฟนั้นจะสว่างสักเพียงใดก็ย่อมไม่สามารถทำให้ทุกซอกทุกมุมของห้องได้รับแสงสว่างอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันได้ การกระจายอำนาจ เปรียบเหมือนการจุดไฟดวงเล็กๆ ขึ้นทั่วทุกมุมห้อง แม้จะเป็นไฟดวงเล็กๆ แต่ก็ให้แสงสว่างได้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั้งห้อง” ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวนิช
จากประโยคข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่นก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเอง บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่งของไทยนี้ให้มากขึ้น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือหน่วยงานของรัฐที่มีการดำเนินงานเป็นอิสระจากส่วนกลาง ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการต่างๆ ในท้องถิ่นของตน โดยผู้บริหาร อปท. ก็เป็นคนในท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งการที่รัฐยอมให้ อปท. ดำเนินงานได้อย่างมีอิสระ หมายความถึงรัฐกระจายอำนาจลงมาสู่ระดับท้องถิ่น จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐดูแลตนเองมากขึ้น และถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของรัฐ เนื่องจากผู้บริหารเป็นคนในท้องถิ่นที่รู้ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่ารัฐบาลกลาง จึงสามารถตัดสินใจใช้งบประมาณได้ตรงตามความต้องการของประชาชนมากกว่า นอกจากนี้ งบประมาณท้องถิ่นที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้ อปท. จะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งวิธีจัดสรรงบประมาณลักษณะนี้ จะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างท้องถิ่น และจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของ อปท. และเกิดนวัตกรรมบริการสาธารณะต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากประชาชนจะเลือกย้ายไปอาศัยอยู่ในท้องถิ่นที่เสนอบริการสาธารณะที่ตนต้องการมากกว่า
อปท. ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย ในความเป็นจริง ประเทศไทยมี อปท. มา 100 กว่าปีแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยในช่วงแรก อปท. มีหน้าที่บริหารกิจการในท้องถิ่นบางประเภทเท่านั้น เช่น ดูแลด้านความสะอาดในท้องถิ่น เป็นต้น อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการปฏิรูป อปท. ไทยเกิดขึ้นในปี 2542 ที่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจนเป็นฉบับแรกของประเทศไทย ทำให้กระบวนการกระจายอำนาจมีการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ และส่งผลให้มีการจัดสรรภาษีและโอนภารกิจต่างๆ จากรัฐบาลกลางมาให้ อปท. มากขึ้น
มาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วปัจจุบันประเทศไทยมีการถ่ายโอนภารกิจไปให้ อปท. มากน้อยแค่ไหนต้องขอเรียนว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาหลังจากมี พ.ร.บ. กระจายอำนาจข้างต้น อปท. ไทยยังถือว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น ยังไม่แข็งแกร่งเหมือนกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือ อินเดีย ที่การปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนามาอย่างยาวนาน โดยหากพิจารณาจาก พ.ร.บ. ฯ กำหนดให้สัดส่วนรายได้ อปท.ต่อรายได้รัฐบาลต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ในปี พ.ศ. 2549 แต่ปรากฎว่าในช่วงดังกล่าวไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จึงมีการแก้ไขเกณฑ์ให้สัดส่วนรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แทน นอกจากนี้หากพิจารณาโครงสร้างทางการเงินของ อปท. พบว่า รายได้ของ อปท. มาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ขณะที่รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เองมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของรายได้รวมของ อปท.เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างรายรับในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นอิสระจากภาครัฐ ส่วนด้านการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามภารกิจต่างๆ ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเช่นกัน สะท้อนจากภารกิจที่ อปท. ได้รับถ่ายโอนจากรัฐส่วนใหญ่จะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนชลประทาน ขณะที่การบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น ด้านสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิการสังคมในพื้นที่ยังไม่คืบหน้ามากนัก นอกจากนี้ ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นในการดำเนินงาน คือ ภารกิจรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นมีความทับซ้อนกันค่อนข้างมาก ส่งผลให้การดำเนินงานโครงการต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป และทำให้การใช้จ่ายทั้งของ ภาครัฐและภาคท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ
โดยสรุป อปท. ของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากในอดีต แต่จากโครงสร้างทางการเงินของ อปท. ที่กล่าวไว้ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อปท. ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เช่น ให้ท้องถิ่นเก็บรายได้เองมากขึ้น ลดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระและสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต้องมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับภารกิจที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนว่าส่วนใดจะเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจประเภทใด ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านบริการสาธารณะ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีบทบาทในการเสนอแนะและตรวจสอบการทำงานของ อปท. เพื่อเป็นการพัฒนาให้ อปท. สามารถดำเนินภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น และบรรลุวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงซึ่งคือการช่วยเหลือและแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย