สุนทรพจน์: ภารกิจที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2013 15:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำกล่าวปาฐกถา

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่อง "ภารกิจที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย" ในงาน POSTTODAY INVESTMENT EXPO 2013

จัดโดย บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) และ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2556 เวลา 13.30-14.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผู้บริหารบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) และ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอแสดงความยินดีกับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่ครบรอบ 10 ปี ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่ดีสมเป็นมืออาชีพเสมอมา โดยเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งการรายงาน และการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่รอบด้านและทันเหตุการณ์

ในวันนี้ ผมยินดีที่ได้รับเกียรติมาบรรยายในหัวข้อ "ภารกิจที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย" ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญและมีโอกาสบรรยายในหัวข้อนี้หลายครั้งด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ผมจะเน้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และบทบาทของแบงก์ชาติในการดูแลเศรษฐกิจและระบบการเงินด้านต่างๆ

แต่สำหรับในวันนี้ ผมอยากพูดประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทายมากของ แบงก์ชาติ นั่นคือ ความคาดหวังของคนไทยที่มีต่อแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

ท่านผู้ว่าการ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวไว้ว่า "หลักการที่สำคัญของธนาคารกลาง คือ เครดิต และ Faith คือ ความเชื่อถือกันทั้งภายในและภายนอก" ดังนั้น หากแบงก์ชาติไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่สมควรจะทำ ไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนได้ จนความน่าเชื่อถือหดหาย แบงก์ชาติก็จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของธนาคารกลางให้ลุล่วงได้ ดังนั้น การตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

องค์กรที่พึ่งพาได้

คำถามต่อมาคือ ประชาชนคาดหวังอะไรจากแบงก์ชาติบ้าง ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ แบงก์ชาติ ถูกคาดหวังให้ "พึ่งพาได้" ในเรื่องเศรษฐกิจการเงิน หากมีประเด็นด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้น ประชาชนคาดหวังว่าแบงก์ชาติจะสามารถอธิบายสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะมีนโยบายที่ป้องกันหรือบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

แต่ในวันนี้ผมไม่ขอลงลึกในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าทุกท่านสามารถได้ยินได้ฟังในโอกาสอื่นๆ เช่น การแถลงข่าวเศรษฐกิจประจำเดือน ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือการให้สัมภาษณ์โดยผู้บริหารของแบงก์ชาติเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ผมจะขอพูดถึงสิ่งที่แบงก์ชาติยึดเป็นแนวทางการทำงาน ซึ่งขอแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ "รู้ลึกและรู้รอบ" กับ "มองไกลและกล่าวเตือน"

"รู้ลึกและรู้รอบ" คือ เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งของไทยและต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้ การตัดสินใจทำนโยบายเป็นไปอย่างรอบคอบ รอบด้าน และทันกาล

"มองไกลและกล่าวเตือน" คือ ต้องมองเศรษฐกิจไปในอนาคตข้างหน้าอยู่เสมอ และเมื่อมีสัญญาณเศรษฐกิจบางประการที่ควรจับตามองหรืออาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ แบงก์ชาติควรจะเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ออกมาเตือน แม้ความเสี่ยงจะยังไม่มากก็ตาม

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจในภาพใหญ่แล้ว ประชาชนทั่วไปหวังพึ่งแบงก์ชาติให้คุ้มครองและดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินอีกด้วย (Consumer protection) ซึ่งแบงก์ชาติเองก็ตระหนักในบทบาทดังกล่าวและได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้รู้จักสิทธิของตนเอง สร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการกับสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ให้บริการ รวมถึงร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและเตือนภัยทางการเงินในรูปแบบต่างๆ

องค์กรที่เตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Proactive)

การเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ในเรื่องเศรษฐกิจการเงินยังไม่เพียงพอ สาธารณชนยังคาดหวังให้แบงก์ชาติ มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ โดยเตรียมเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคต เพราะยุคนี้เป็น "ยุคแห่งการเชื่อมโยง" ทั้ง "การเชื่อมโยงในเรื่องเศรษฐกิจ" เช่น การเปิด AEC ใน ปี 2558 และ "การเชื่อมโยงด้าน IT" ที่มีบทบาทสูงขึ้นมาก ผมจะขอยกตัวอย่างงานที่เตรียมความพร้อมให้ระบบเศรษฐกิจสัก 3 เรื่อง

เรื่องแรก การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ แบงก์ชาติได้เตรียมพร้อมให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกของประเทศมีความสมดุลมากขึ้น เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมโยงของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ในการนี้ แบงก์ชาติได้จัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างสมดุลมากขึ้นและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดการเงินในระยะยาว อาทิ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ สามารถกระจายความเสี่ยงและขยายการลงทุนไปในต่างประเทศได้ พร้อมกับช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสามารถไหลเข้าออกได้ทั้งสองทิศทางมากขึ้น

เรื่องที่สอง การเชื่อมโยงด้าน IT แบงก์ชาติกำลังพัฒนาระบบชำระเงินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงปลอดภัย เช่น การพัฒนาระบบ ICAS หรือการเคลียริ่งเช็คด้วยภาพผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเรียกเก็บเช็คทั่วประเทศได้ภายใน 1 วันทำการ หรือ การสนับสนุนระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การใช้บัตรเดบิต การใช้ระบบ Internet Banking ต่างๆ ซึ่งจะทำให้การค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น

เรื่องที่สาม แบงก์ชาติกำลังศึกษารูปแบบธุรกิจ (Business model) ใหม่ๆตามเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การให้บริการ Microfinance ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile banking) หรือตัวแทนธนาคาร (Banking agent) แทนการเปิดสาขาเพื่อลดต้นทุนของธุรกรรมลง และเพิ่มช่องทางการเงินถึง แหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชน

ความคาดหวังของสาธารณชนที่ต้องการให้แบงก์ชาติเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้และเตรียมความพร้อม ด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างไรก็ดี การทำภารกิจให้บรรลุ ความคาดหวังของสาธารณชนนั้น แบงก์ชาติจำเป็นต้องรับฟังและเข้าถึงผู้คนในทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนรายย่อย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผมจะขอเน้นในวันนี้

องค์กรที่เข้าถึงผู้คนในทุกภาคส่วน

ก่อนอื่น ผมขอเล่าย้อนความเล็กน้อย เมื่อปลายปีที่แล้วแบงก์ชาติได้ทำการสำรวจว่าประชาชน เข้าใจการทำงานของแบงก์ชาติอย่างไรบ้าง ผลสำรวจพบว่าประชาชนรับรู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ในด้านต่างๆ ของแบงก์ชาติค่อนข้างดี แต่ในส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ผู้ตอบส่วนใหญ่ต้องการให้แบงก์ชาติ "เข้าถึงผู้คน" มากขึ้น ทั้งในเรื่องการสื่อสารให้เข้าใจง่าย การมีความเข้าใจภาคธุรกิจที่ลึกซึ้งขึ้น และ การเข้าถึงภาคประชาชน

การสื่อสาร

ในเรื่องการสื่อสาร ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ท้าทายของแบงก์ชาติ เพราะการสื่อสารของแบงก์ชาติไปสู่สาธารณชนมีหลายระดับ เช่น การสื่อสารให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยต่างๆ ซึ่งต้องให้ข้อมูลที่ละเอียดครบถ้วนและอาจต้องใช้คำศัพท์ทางวิชาการบ้าง ขณะที่การสื่อสารกับประชาชนทั่วไปต้องใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ชัดเจน เน้นสื่อสารในสาระสำคัญ แบงก์ชาติเองก็ตระหนักถึงประเด็นนี้และจะพยายามสื่อสารให้ดีที่สุดในทุกๆ ระดับ โดยส่วนหนึ่งแบงก์ชาติก็ต้องพึ่งพาสื่อสารมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ด้วย

แต่การสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น การรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนและผู้มีส่วนร่วมต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นการสื่อสารสองทางเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เช่น ก่อนการประกาศใช้เกณฑ์มาตรฐาน BASEL III เมื่อตอนต้นปี แบงก์ชาติมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากธนาคารพาณิชย์หลายครั้ง และเมื่อประกาศใช้แล้ว ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น

ความเข้าใจภาคธุรกิจที่ลึกซึ้งขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจ แบงก์ชาติต้องการเข้าใจการทำงานของภาคธุรกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ในการนี้ แบงก์ชาติได้ส่งคณะผู้บริหารและพนักงานออกไปพบธุรกิจต่างๆ ทุกสาขา ทั้งในส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาค ปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 800 แห่ง เพื่อรับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ กับทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ซึ่งข้อมูลที่ได้รับมาเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบาย

ยกตัวอย่างเช่น การประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในปีที่ผ่านมา นอกจากการดูตัวเลขสถิติในระดับมหภาค เช่น การจ้างงาน การเปิดปิดกิจการ จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน แล้ว แบงก์ชาติได้ลงไปติดตามผลกระทบถึงในระดับจุลภาค โดยได้พูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้เราทราบสถานการณ์มากมายที่อยู่เบื้องหลัง เช่น ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบและปรับตัวไม่ได้จนต้องปิดกิจการก็มีอยู่จริง แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ในทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้ธุรกิจดูดซับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไว้ได้ หรือเห็นการปรับตัววิธีต่างๆ ของธุรกิจ และสามารถรองรับผลกระทบได้ดีระดับหนึ่ง อาทิ การให้พนักงานหนึ่งคนทำงานหลายหน้าที่ในธุรกิจโรงแรม การเปลี่ยนเป็นจ้างเหมาตามจำนวนชิ้นงานที่ผลิตได้เพื่อเพิ่มคุณภาพของงาน การลงทุนเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงาน เช่น การลงทุนระบบรางเลื่อนเพื่อขนถ่ายสินค้าช่วยลดการใช้แรงงานไปได้มากกว่าร้อยละ 50 เป็นต้น

นอกจากนี้ การออกไปพบผู้ประกอบการในต่างจังหวัดทำให้เราได้รับทราบปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะจากธุรกิจ SMEs เช่น ปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ซึ่งคณะผู้แทนแบงก์ชาติก็ได้แนะนำเครื่องมือต่างๆ เช่น การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือผู้ส่งออกในต่างจังหวัดต้องการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินแต่ยังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจ หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารในส่วนภูมิภาคยังแนะนำผลิตภัณฑ์ได้ไม่เต็มที่ แบงก์ชาติกับธนาคารพาณิชย์ก็ร่วมมือกันแก้ปัญหา เช่น ร่วมกันจัดงานให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินแก่ผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ดังที่ได้เคยจัดมาร่วม 14 ครั้งตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อแบงก์ชาติออกไปพบธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะประสบปัญหาเรื่องวงเงินเต็มหรือที่เรียกกันว่า Single lending limit และไม่สามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้เรามีโอกาสได้สร้างความเข้าใจว่าแบงก์ชาติระวังไม่ให้ธนาคารเกิดการสะสมความเสี่ยงที่มากเกินไป จึงได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้ รายใหญ่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติก็เข้าใจถึงอุปสรรคนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงได้ผ่อนผันให้ธุรกรรมบางอย่างไม่ถูกนับในวงเงินสินเชื่อของธุรกิจ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีวงเงินเหลือและคล่องตัวมากขึ้น เช่น ผู้ส่งออก ที่นำตั๋ว Letter of credit มาขายลดให้กับธนาคารพาณิชย์ ก็ให้นับธนาคารผู้ออก Letter of credit ในต่างประเทศเป็นลูกหนี้แทน จากเดิมที่นับผู้ส่งออกเป็นลูกหนี้ เป็นต้น

การเข้าถึงภาคประชาชน

ภาคประชาชนเป็นภาคที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคธุรกิจ โดยบรรจุเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี และได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เป็นหน่วยงานหลักในการเข้าถึงประชาชนรายย่อย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับบริการทางการเงิน แก่ประชาชน รวมถึงการดูแลเรื่องร้องเรียน เป็นการให้บริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One stop service) โดยเราได้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นทั้งที่กรุงเทพฯ และ 3 สำนักงานภาค ซึ่งได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา และจัดให้มีโทรศัพท์สายด่วน 1213 เพื่อให้บริการทั่วประเทศ

สิ่งที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญ คือ ความรู้ทางการเงินและการออม รวมถึงการวางแผนทางการเงิน ถือเป็นปัญญาทางการเงิน (Financial Literacy) ที่เราต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้น ซึ่งได้มีการดำเนิน การผ่านหลายช่องทาง เช่น การจัดนิทรรศการ การผลิตหนังสือให้ความรู้ การเผยแพร่บทความในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร การให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์และวิทยุ ทั้งนี้ แบงก์ชาติพยายามคิดรูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องและเข้าถึงผู้คนในท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การผลิตบทละครสั้นทางวิทยุด้วยภาษาท้องถิ่นสอดแทรกความรู้ทางการเงิน จำนวน 6 ตอน เผยแพร่ทางเครือข่ายวิทยุในภูมิภาค หรือการลงพื้นที่จัดบรรยายให้ความรู้ด้านการเงินแก่คุณครูและผู้นำชุมชน เพื่อให้ถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนและสมาชิกในชุมชนต่อไป ถือเป็นการทำน้อยแต่ได้มากและได้นาน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดในวันนี้ หากเปรียบเทียบแบงก์ชาติเป็นบุคคลหนึ่งคน แบงก์ชาติในความคิด ของคนส่วนใหญ่อาจจะเป็นนักวิชาการที่รอบคอบ ยึดมั่นในหลักการ ฉลาดหลักแหลม แต่สื่อความหมาย ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก และดูเหมือนเป็นคนที่เข้าถึงได้ยาก ภารกิจที่ท้าทายของแบงก์ชาติ จึงเป็น การปรับเปลี่ยนบุคลิกให้แบงก์ชาติเป็นคนที่เปิดเผย ใจกว้าง เข้าถึงได้ง่าย และสื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้ อย่างชัดเจน ขณะที่ยังคงคุณสมบัติยึดมั่นในหลักการเอาไว้

สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความยินดีอีกครั้ง กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่ทำงานครบรอบหนึ่งทศวรรษ และขอขอบคุณที่ได้จัดงานในวันนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางเผยแพร่ความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้นักลงทุนและผู้สนใจได้รอบรู้เท่าทันเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงปรับตัวทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอเปิดงาน POSTTODAY INVESTMENT EXPO 2013 ณ บัดนี้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ