แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม และปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2013 11:47 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2556

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวดีต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนของการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยว ขณะที่การผลิตสินค้าเกษตรและการส่งออกชะลอลงเล็กน้อย ส่วนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัว การจ้างงานขยายตัวดี สินเชื่อและเงินฝากเพิ่มขึ้นมาก

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

ภาคอุปสงค์ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 18.1 โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์เร่งตัวมากก่อนมาตรการรถยนต์คันแรกของทางการจะสิ้นสุดในเดือนนี้ และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไปขยายตัวดี ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงร้อยละ 23.1 จากความต้องการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ๆ รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งยังมีทิศทางดีต่อเนื่อง ในเดือนนี้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่า 1,589.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล การเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัดมีจำนวน 15,246.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ตามการเบิกจ่ายในหมวดบุคลากร เงินอุดหนุนท้องถิ่น/สถานศึกษา และโครงการก่อสร้างของภาครัฐ

ด้านการส่งออกมีมูลค่า 367.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 10.2 ตามการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดน ส่วนการส่งออกเลนส์กล้องถ่ายรูป แผงวงจรสำเร็จรูป ผ่านด่านศุลกากรลดลง เนื่องจากความนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้กล้องในสมาร์ทโฟนแทน การนำเข้ามีมูลค่า 132.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวต่อเนื่องร้อยละ 6.9 ตามการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเพชรยังไม่เจียระไน

ภาคการผลิตขยายตัวดี โดยการท่องเที่ยวขยายตัวดีมาก ทั้งจากนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ เนื่องจากมีการจัดงานกีฬาแห่งชาติที่เชียงใหม่ การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ภาวะอากาศหนาวเย็นจูงใจ กระแสความนิยมท่องเที่ยวในภาคเหนือโดยเฉพาะชาวจีน ประกอบกับมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น รายได้ของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 8.3 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร อาทิ อ้อยโรงงาน ข้าวนาปี และมันสำปะหลัง เนื่องจากเกษตรกรเพิ่มการผลิตและสภาพอากาศเอื้ออำนวย รวมทั้งการผลิตปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 4.0 จากราคาอ้อยโรงงานต่ำลงตามราคาอ้อยขั้นต้น ราคาข้าวเปลือกลดลงเนื่องจากผลผลิตและสต็อกเพิ่มขึ้นมาก และราคามันสำปะหลังลดลงส่วนหนึ่งจากผลผลิตปีนี้มีมากเป็นประวัติการณ์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.8 เป็นผลจากการผลิตเครื่องดื่มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เร่งการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทสื่อสารและสินค้าเกษตรแปรรูปยังขยายตัวตามความต้องการของตลาด

เสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.49 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ น้ำมัน และค่าไฟฟ้า ภาวะการจ้างงานเดือนพฤศจิกายน 2555 และจานวนผู้ประกันสังคมในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนถึงความต้องการแรงงานของภาคธุรกิจ

ด้านเงินให้สินเชื่อ ของสาขาธนาคารพาณิชย์ เพียงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2555 มียอดคงค้าง 469,933 ล้านบาทขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.4 ตามความต้องการสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลโดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์ ค้าปลีกค้าส่งค้าพืชไร่ รับเหมาก่อสร้าง และสหกรณ์ออมทรัพย์ เงินฝาก มีจำนวน 544,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 จากเงินฝากของส่วนราชการและสถาบันการศึกษา สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 86.3 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน

สรุปภาพรวม ปี 2555 ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือขยายตัวดีทุกสาขาเศรษฐกิจ จากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ นโยบายรถยนต์คันแรก การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โครงการรับจำนำข้าว และภาวะการท่องเที่ยวขยายตัวดีมาก ทำให้การค้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัวดีโดยเฉพาะหมวดยานยนต์เพิ่มเป็นประวัติการณ์การลงทุนเร่งตัวตามการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและแนวดิ่งของภาคเอกชน และโครงการฟื้นฟูและป้องกันอุทกภัยของภาครัฐ ทำให้การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างขยายตัวดีตามไปด้วย การเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัดขยายตัวในอัตราสูง เนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณเร็วและสามารถเบิกจ่ายได้มากกว่าปีก่อน ด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นมาก จากการค้าผ่านด่านชายแดนเป็นสำคัญ และการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสารผ่านด่านศุลกากรขยายตัวดี ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรจากผลผลิตข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลังที่มากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออานวยและเกษตรกรเพิ่มการผลิตเพราะราคาจูงใจประกอบกับการผลิตปศุสัตว์เพิ่มขึ้นมาก และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากการผลิตอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมผลิตลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป เช่น เซรามิก เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากปีก่อนตามราคาอาหารสด อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปี ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้นจากเงินฝากของส่วนราชการและสถาบันการศึกษา สำหรับเงินให้สินเชื่อขยายตัวสูงในประเภทการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ทิศทางเศรษฐกิจภาคเหนือปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวดีแต่ชะลอลงจากปีก่อนบ้าง จากมาตรการของภาครัฐบางมาตรการสิ้นสุดลง ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ภาครัฐและเอกชนที่จะเกิดขึ้นในภาคเหนือภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดสำคัญๆ ยังมีแรงส่งต่อไป รวมถึงการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก การขาดแคลนแรงงาน และการปรับค่าจ้างจะส่งผลให้มีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค ตลอดจนภัยธรรมชาติ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคเหนือที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย สานักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร. 0-5393-1162

e-mail : Thaveesc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ