สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนธันวาคม ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2013 11:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการผลิตภาคเกษตรและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการอุปโภคบริโภคขยายตัวจากมาตรการภาครัฐในหมวดยานยนต์ ส่วนการลงทุนขยายตัว โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยตามการส่งออกยาง อาหารทะเลกระป๋องและถุงมือยาง ทางด้านมูลค่าการส่งออกยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นผลจากด้านราคา เป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากหมวดอาหารสดและพลังงาน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ผลผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.8 ตามผลผลิตยางและปาล์มน้ำมัน ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 9.3 โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมันต่ำสุดในรอบ 3 ปี ลดลงถึงร้อยละ 34.5 เป็นผลจากราคาตลาดโลกและสต็อกน้ำมันปาล์มที่อยู่ในระดับสูง ส่วนราคายางพาราแม้จะลดลงร้อยละ 7.9 แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เข้ามาซื้อเพื่อเก็บสต็อกมากขึ้น ส่วนผลผลิตกุ้งเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากการเร่งจับเนื่องจากเข้าสู่ฤดูมรสุมและกังวลต่อปัญหาโรคระบาด ส่งผลให้ราคาลดลงร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ดี ผลผลิตเกษตรที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นและราคายางที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เป็นเดือนแรกในปีนี้

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งเสริมกิจกรรมเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับ ปีใหม่ระดับนานาชาติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้จานวน 702,151 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.4 ในเดือนก่อน เป็นร้อยละ 67.5 ในเดือนนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่านักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 113.6 จากการเพิ่มเที่ยวบินและการเช่าเหมาลำ

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.8 เป็นผลจากการผลิตยางแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและถุงมือยางลดลง เป็นสำคัญ เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลางและสหภาพยุโรปลดลง ส่วนอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ไม้ยางพาราและน้ำมันปาล์ม ตามวัตถุดิบที่เข้าโรงงานเพิ่มขึ้น

มูลค่าการส่งออกยังคงลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากด้านราคา เป็นสำคัญ โดยมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 16.7 ตามการลดลงของมูลค่าส่งออกสินค้าหลัก ได้แก่ ยางพาราที่ลดลงร้อยละ 30.3 อย่างไร ก็ตาม มีสัญญาณที่ดีจากการส่งออกยางไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น สินค้าอื่นที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง และน้ำมันดิบ ขณะที่มูลค่าส่งออกไม้ยางแปรรูปและอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องจักรอุปกรณ์

ทางด้านการลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 19.0 เป็นผลจากการก่อสร้างที่ขยายตัว รวมทั้งยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และมูลค่านำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 0.6 จากมาตรการภาครัฐที่ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคในหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นมาก

เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 20.4 เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเร่งตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 13.1 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ

รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เนื่องจากยอดจำหน่ายสุราลดลง เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุรา ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากการเบิกรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.74 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.01 ในเดือนก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและประสบภัยแล้ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ