สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 4 ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2013 14:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 3/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ประกอบกับการอุปโภคบริโภคและการลงทุนขยายตัว โดยเฉพาะรถยนต์และการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกยังคงลดลง เป็นผลจากด้านราคา เป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การท่องเที่ยวขยายตัวถึงร้อยละ 19.3 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 3 เนื่องจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากทุกแหล่งท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินทั้งในรูปแบบเช่าเหมาลำและเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศมายังแหล่งท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวในสงขลาฟื้นตัวหลังเกิดเหตุระเบิดเมื่อปลายไตรมาส 1 โดยภูเก็ตและสงขลามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7และ18.3 สูงกว่าไตรมาสก่อน

สำหรับผลผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ตามผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านราคาพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 14.4 ตามราคายางและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลก แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 เนื่องจากจีนเข้าซื้อยางเพื่อเก็บเข้าสต็อกทำให้ราคายางสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรดีขึ้นแม้จะลดลงร้อยละ 9.6 ก็ตาม

ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.9 สูงขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัว โดยอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแช่แข็ง เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดตะวันออกกลางและญี่ปุ่น ตามลาดับ ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา ยังมีความต้องการถุงมือยางอย่างต่อเนื่อง มีเพียงยางพาราและไม้ยางที่ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีการสั่งซื้อน้อยลง ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ตามวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนขยายตัวสูงขึ้น โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 12.6 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่อนุญาตก่อสร้าง ยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและมูลค่านำเข้าสินค้าทุน ขณะเดียวกันการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 0.6 จากยอดจำหน่ายรถยนต์คันแรก เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผู้ขอใช้สิทธิ์ตามนโยบายรถยนต์คันแรกตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดโครงการมีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคัน

สำหรับมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.7 ตามการลดลงของมูลค่าส่งออกยางพาราที่ลดลงร้อยละ 38.7 นอกจากนี้ไม้ยางพาราแปรรูป สัตว์น้ำแช่แข็งและก๊าซธรรมชาติ มีมูลค่าส่งออกลดลงเช่นกัน ขณะที่มูลค่าส่งออกอาหารบรรจุกระป๋อง ยางสังเคราะห์และยางผสมเสร็จเพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.6 ตามการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และสัตว์น้ำ ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ก่อสร้างและผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมมีมูลค่านำเข้าลดลง

เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 13.1 และร้อยละ 20.4 ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลจากธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อที่เร่งตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งขยายตัวมากตามนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจชะลอลงจากการหดตัวของสินเชื่อเพื่อการผลิตของอุตสาหกรรมยางพารา เนื่องจากราคายางที่ปรับลดลงทำให้ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนของอุตสาหกรรมยางพาราลดตามไปด้วยด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.50 สูงขึ้นจากร้อยละ 3.39 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.47 ซึ่งเร่งตัวจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 ในไตรมาสก่อน เป็นการเร่งตัวจากหมวดพลังงาน ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มชะลอตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 3.56

ธนาคารแห่งประเทศไทย สานักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ