แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2013 14:58 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 03/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2555 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง เป็นผลจากการใช้จ่ายภาคเอกชน และการลงทุนที่ขยายตัวดี โดยมีแรงสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐบาลที่กระตุ้นการบริโภคโดยเฉพาะมาตรการรถยนต์คันแรก รวมทั้งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อภาคการค้าของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นสูง กอปรกับการใช้จ่ายของภาครัฐบาลโดยรวมที่เร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งน่าจะมีผลต่อการลงทุนในระยะต่อไป บางส่วนเป็นการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การลงทุนยังคงขยายตัวดีในภาคการก่อสร้าง ทางด้านภาคการค้าขยายตัวสูงทั้งการค้ารถยนต์ และการค้าส่งค้าปลีก อีกทั้งการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านยังคงเร่งตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปยัง สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา สำหรับภาคเกษตรโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรชะลอตัวตามตลาดโลกโดยเฉพาะราคายางพาราและข้าวเหนียวเป็นสำคัญ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.48 ชะลอจากปีก่อนที่ร้อยละ 3.85 ตามราคาอาหารเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.1 ตามขยายตัวของหมวดยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นสำคัญซึ่งเป็นผลจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลทำให้มีความต้องการซื้อรถเพิ่มขึ้นสูงมาก เห็นได้จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารพาณิชย์ ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 1.4 เท่า รวมทั้งหมวดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีสอดคล้องกับ ดัชนีการค้า ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15.5 จากผลของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังอุทกภัยน้ำท่วมในปลายปีก่อน ทำให้การค้ายานยนต์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.4 รวมทั้งการค้าในหมวดการค้าส่งและการค้าปลีกก็ยังขยายตัวดี ในสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบทางการเกษตร และเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อการค้าของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13.9 ส่วนใหญ่เป็นงบประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 จากหมวดเงินเดือนจากการขึ้นเงินเดือนประจำปีของข้าราชการ และเงินค่าวิทยฐานะของครู สำหรับงบลงทุนลดลงร้อยละ 14.3 เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2 รัฐบาลได้กันงบประมาณบางส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ภาคกลาง นอกจากนี้ กำลังซื้อจากประชาชน สปป.ลาว ที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในจังหวัดแนวชายแดนเพิ่มขึ้น ก็มีสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีด้วย โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.1 เห็นได้จากพื้นที่ก่อสร้างที่ขยายตัวในหลายจังหวัดโดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานี ทำให้ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากหมวดการก่อสร้าง สำหรับความสนใจลงทุนของนักลงทุนในระยะต่อไป สะท้อนจากมูลค่าการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 115.3 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและเชื้อเพลิงชีวมวล/ชีวภาพ ในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา เป็นสำคัญ

สำหรับภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.6 แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าปีก่อนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.6 ตามผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญที่ลดลง โดยดัชนีราคาพืชผลลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.6 เป็นผลจากการลดลงของราคาข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง และยางพาราตามราคาในตลาดโลก ในขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวเปลือกหอมมะลิสูงขึ้นจากปีก่อน สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ร้อยละ 5.4 ผลิตน้อยกว่าปีก่อนเป็นผลจากผลผลิตข้าว อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 8.6 ชะลอลงจากปีก่อนตามอุตสาหกรรมน้ำตาลที่การผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เข้าสู่โรงงานน้อยกว่าปีก่อนซึ่งมีปริมาณอ้อยสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังขยายตัวดี ด้านภาคบริการ อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 48.8 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 47.4

เสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.48 ชะลอตัวจากปีก่อนที่ร้อยละ 3.85 ตามราคาอาหารเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.97 ชะลอตัวจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.10

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ