สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 4, 2013 15:05 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 5/2556

เศรษฐกิจภาคใต้ปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้และมูลค่าการส่งออกลดลง อย่างไรก็ดี การลงทุนและการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนขยายตัว โดยเฉพาะการลงทุนด้านการก่อสร้างและยอดจดทะเบียนรถยนต์ สอดคล้องกับสินเชื่อที่ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากนี้ การผลิตยังขยายตัว ทั้งผลผลิตภาคเกษตรและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศมายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ ส่วนเงินเฟ้อชะลอลงเล็กน้อยตามหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ผลผลิตพืชผลเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ตามผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 23.1 ตามราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงร้อยละ 26.3 โดยเฉพาะราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ความต้องการลดลง ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนผลผลิตกุ้งขาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากการเพาะเลี้ยงมากขึ้น ส่งผลให้ราคาลดลงร้อยละ 4.5

ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ตามการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากยังมีคำสั่งซื้อจากตลาดหลักที่สำคัญและการขยายตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลบรรจุกระป๋องและถุงมือยาง ส่วนการผลิตยางแปรรูปแม้จะชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก แต่ยังส่งออกไปจีนได้มากขึ้น ส่วนการผลิตไม้ยางพาราลดลง อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่ดีจากจีนเริ่มกลับเข้ามาซื้อไม้ยางแปรรูปอีกครั้ง หลังจากชะลอการสั่งซื้อมาระยะหนึ่ง

ส่วนการท่องเที่ยวขยายตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย จากการเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศ ทั้งสายการบินประจาและเช่าเหมาลำมายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากนี้การท่องเที่ยวของภาคใต้ชายแดนฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภาคใต้มีจานวน 6.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 และอัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 62.3 ปรับดีขึ้นจากร้อยละ 48.9 ในปีก่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ชาวมาเลเซียและชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก

มูลค่าการส่งออกลดลง ซึ่งเป็นผลจากด้านราคา เป็นสำคัญ โดยมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 16.6 ตามการลดลงของมูลค่าส่งออกสินค้าหลัก ได้แก่ ยางลดลงร้อยละ 35.2 และสัตว์น้ำลดลงร้อยละ 11.8 ขณะที่การส่งออกอาหารบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 จากการขยายตลาดไปยังเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกา เป็นสำคัญ ส่วนถุงมือยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา

ทางด้านการลงทุนขยายตัวร้อยละ 7.1 เป็นผลจากการก่อสร้างที่ขยายตัว รวมทั้งยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และมูลค่านำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 2.1 จากมาตรการภาครัฐที่ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคในหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.0

เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 20.4 เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะรถยนต์คันแรก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 13.1 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ

รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากการเบิกรายจ่ายประจำ ส่วนการเบิกรายจ่ายลงทุนลดลง

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.60 ชะลอลงจากร้อยละ 4.22 ในปีก่อน ตามราคาสินค้าใน หมวดอาหารและเครื่องดื่ม

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2556 คาดว่ายังคงขยายตัวจากผลผลิตภาคเกษตรและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการและการขยายตลาดใหม่ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน เอเชีย ยุโรปและสแกนดิเนเวีย นอกจากนี้ การอุปโภคบริโภคยังขยายตัวตามรายได้ที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการลงทุนด้านการก่อสร้างที่ขยายตัว โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ความผันผวนของค่าเงิน เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขาดแคลนแรงงานและผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ