สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมกราคม ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2013 16:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 6/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมกราคม 2556 ขยายตัวตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้า นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการใช้จ่ายทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน ตลอดจนการส่งออกที่ขยายตัวดีจากการที่เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพและสัญญาณดีขึ้น สอดคล้องกับการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงตามไปด้วย รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 19.5 ตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่มีวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การผลิตยางแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากตลาดหลัก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 27.7 สำหรับการนำเข้าขยายตัวสูงเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.6 ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ขณะเดียวกันการลงทุนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ร้อยละ 25.3 ตามการลงทุนภาคการก่อสร้างที่ขยายตัว ทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่าย ปูนซิเมนต์ เช่นเดียวกับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.9 จากรายได้ของประชาชนที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งจากการปรับเงินเดือนและค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรการการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ยาง ปาล์มน้ำมัน ทำให้รายได้เกษตรกรที่แม้จะลดลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งมาตรการรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ถึงแม้จะสิ้นสุดโครงการแต่ยังมีการทยอยส่งมอบ ทำให้การค้าปลีกค้าส่งและการค้ารถยนต์ขยายตัว สอดคล้องกับเงินให้สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 21.5 ตามการให้สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคที่เร่งตัว โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากนโยบายรถยนต์คันแรกและการบริโภคส่วนบุคคล

ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 0.8 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการลดลงของนักท่องเที่ยว ชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดชายแดนลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการคำนวณที่สูงในเดือนเดียวกันปีก่อนเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวฝั่งอันดามันและอ่าวไทยยังคงขยายตัว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีนและรัสเซีย

ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 1.2 ตามการลดลงของผลผลิตยาง ส่วนราคาพืชผลลดลงร้อยละ 11.9 ตามราคาในตลาดโลกและปริมาณสต็อกที่ยังอยู่ในระดับสูง ทาให้ราคาพืชผลสำคัญ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงร้อยละ 13.0 สำหรับผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดน้อยลงตามฤดูกาล เนื่องจากได้มีการเร่งจับไปก่อนหน้าและส่วนหนึ่งเสียหายจากโรคระบาด ทำให้ราคาสูงขึ้นร้อยละ 12.8

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 ตามการเร่งตัวของการเบิกจ่ายงบลงทุน ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 ตามการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดอุตสาหกรรม

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.13 ชะลอลงจากร้อยละ 3.70 ในเดือนก่อน จากการชะลอลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ชะลอลงจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งราคาเนื้อสัตว์ปรับลดลง ส่วนหมวดมิใช่อาหารและเครื่องดื่ม ชะลอลงตามราคาวัสดุก่อสร้างและน้ำมัน 91, 95 และดีเซล เป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ