ฉบับที่ 02/2556
ฉบับที่ 02/2556
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรกของรัฐบาล รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ การค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวดี ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.06 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.05 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.4 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากการขยายตัวสูงในหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ เนื่องจากมีการส่งมอบรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนส่วนหมวดภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอลงเล็กน้อย แต่การจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคกลับยังอยู่ในเกณฑ์ดี เห็นได้จากภาคการค้า ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.7 เร่งตัวจากไตรมาสก่อน ขยายตัวในทุกหมวดส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการค้าในหมวดยานยนต์ขยายตัวถึงร้อยละ 46.4 เนื่องจากประชาชนเร่งซื้อรถยนต์ก่อนหมดมาตรการรถยนต์คันแรกในช่วงสิ้นปี การค้าปลีกขยายตัวดี ในหมวดวัสดุก่อสร้าง สินค้าบริโภค สำหรับการค้าส่งขยายตัวจากหมวดวัตถุดิบทางการเกษตร สัตว์มีปีก และเครื่องจักรและอุปกรณ์ กำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1.4 เท่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้สินเชื่ออื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อขายปลีกขายส่งสินเชื่อตัวกลางทางการเงิน (สินเชื่อที่ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์) สำหรับสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.2 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อสังคมตามนโยบายของรัฐบาล รองลงมาเป็นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้ง การใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36.5 และขยายตัวจากไตรมาสก่อน ทั้งงบประจำและงบลงทุน โดยงบประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 จากหมวดเงินเดือนเป็นผลจากการขึ้นเงินเดือนประจำปีของข้าราชการ และเงินค่าวิทยฐานะของครู งบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 จากหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.6 สะท้อนจากยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นจังหวัดเดียวมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1,100 ล้านบาท รวมทั้งเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติให้ประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 128.2 จากการขอตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลที่จังหวัดหนองบัวลำภูและอุดรธานี และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดขอนแก่น
ทางด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนภาคบริการ อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 46.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 49.4
สำหรับภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 เป็นผลจากราคาที่ลดลงเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 จากราคาข้าว เนื่องจากการแข่งขันสูงจากผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง และสต็อกของทางการที่อยู่ในระดับสูง ส่วนราคายางพารายังคงลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากราคาที่จูงใจในปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลจากมาตรการของภาครัฐ สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.8 โดยยางพาราและมันสำปะหลังผลิตได้เพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตข้าว อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.06 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.05 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.83 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.65
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย