อรัญญา ศรีวิโรจน์, จิดาภา ช่วยพันธุ์
ปี 2555 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ตลาดน้ำมันปาล์มโลกเผชิญกับความผันผวนด้านราคาอีกครั้ง เมื่อความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มในตลาดโลกชะลอลงจากความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจจีนที่ลดความร้อนแรงลง ประกอบกับปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มของมาเลเซียและอินโดนีเซียออกมามาก ทาให้สต็อกโลกสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดมาเลเซียตกต่ำในรอบ 3 ปีอยู่ที่เฉลี่ย 2,181 ริงกิตต่อตัน สำหรับราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยที่อิงกับตลาดมาเลเซีย จึงเผชิญชะตากรรมเดียวกัน โดยต้นปีราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยพุ่งสูงสุดในเดือนเมษายน อยู่ที่กิโลกรัมละ 35.90 บาท ส่งผลถึงราคาผลปาล์มสูงถึงกิโลกรัมละ 6.23 บาท เป็นที่พอใจของเกษตรกร แต่หลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาราคาน้ำมันปาล์มดิบค่อย ๆ ตกจนต่ำสุดในเดือนธันวาคม เหลือเพียงกิโลกรัมละ 22.95 บาท ส่วนผลปาล์มลดลงเหลือกิโลกรัมละ 3.53 บาท นับว่าต่ำสุดในรอบ 3 ปี เช่นกัน
ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของโลกในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ตลาดรับรู้และส่งผลกระทบอย่างรวดเร็ว และน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้างด้วย บทความนี้จึงขอวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดน้ำมันปาล์มและส่งผลต่อราคาในปี 2556
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตน้ำมันปาล์มขยายตัวเร็วที่สุดของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับพืชน้ำมันชนิดอื่น โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4.2 ต่อปี และในปี 2556 ผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกคาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนดีและสภาพอากาศเอื้ออำนวยและการขยายพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2538 — 2552 ทาให้ปัจจุบันมีต้นปาล์มอายุน้อยและพร้อมให้ผลผลิต ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกปาล์มทั้งหมด ส่งผลให้ปี 2556 -2561 ยังเป็นยุคทองของการขยายตัวของผลผลิตปาล์มโลก โดยในปี 2556 คาดว่าผลผลิตน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ในระยะสั้นการเพิ่มของผลผลิตอาจจะเร็วและรุนแรงเกินไป ในขณะที่ความต้องการของโลกขยายตัวช้ากว่า
2552/53 2553/54 2554/55 2555/56
ผลผลิต 4.2 4.5 5.8 5.2 การนำเข้า 3.7 2.3 5.5 4.4 -อินเดีย -3.8 0.9 12.2 3.0 -จีน -5.9 -0.9 2.3 7.9 ที่มา : United States Department of Agricultural อินเดียและจีนยังเป็นผู้กำหนดความต้องการของโลก
น้ำมันปาล์มมีการซื้อขายมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของการนำเข้าน้ำมันบริโภคโลก โดยอินเดียและจีนยังคงเป็นผู้บริโภครายใหญ่ โดยเฉพาะอินเดียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความต้องการน้ำมันพืชขยายตัวร้อยละ 62 แต่การผลิตพืชน้ำมันในประเทศขยายตัวช้า เฉลี่ยร้อยละ 1.8 ต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.0 ต่อปี ดังนั้นอินเดียจึงต้องนำเข้าเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่บริโภคเพิ่มขึ้นทุกปี โดยการนำเข้าน้ำมันพืชในช่วง 10 ปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 125 ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าน้ำมันปาล์มสูงถึงร้อยละ 70 ของการนำเข้าน้ำมันพืช และสัดส่วนการบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.1 เป็นร้อยละ 45.4 ในปี 2554/55 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าน้ำมันปาล์มของอินเดียคาดว่าชะลอลงจากร้อยละ 12.2 ในปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2556 เนื่องจากการคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียปี 2556 จะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี
ส่วนจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าอันดับสองของโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.7 และน้ำมันปาล์มมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 63 ของการนำเข้าน้ำมันพืช ทั้งนี้ คาดว่าปี 2556 จีนจะนำเข้าน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เร่งตัวจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในปี 2555 เนื่องจากผลผลิตพืชน้ำมันในประเทศลดลง ประกอบกับสัญญาณบวกของเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว
นักวิเคราะห์คาดว่าราคาปี 2556 จะเคลื่อนไหวที่ 2,400 — 2,800 ริงกิตต่อตัน โดยคาดว่าครึ่งแรกของปี 2556 ราคาจะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนธันวาคม 2555 มาเคลื่อนไหวที่ 2,500 — 2,800 ริงกิตต่อตัน เนื่องจากไตรมาสแรกเป็นช่วงผลผลิตออกน้อย หลังจากนั้นราคามีแนวโน้มลดลงในครึ่งหลังของปี มาอยู่ที่ 2,400— 2,600 ริงกิตต่อตัน เว้นแต่ว่าสต็อกที่สูงถึง 2.6 ล้านตันของมาเลเซียจะลดมาอยู่ที่ระดับ 2.0-2.2 ล้านตัน อาจกระตุ้นให้ราคาสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2,800 — 3,000 ริงกิตต่อตัน เมื่อนำมาคำนวณหาราคาผลปาล์มของไทยจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.70 — 4.70 บาท หากสต็อกน้ำมันปาล์มไทยยังสูงจะส่งผลให้ราคาอ่อนไหวยิ่งขึ้น
ความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มในปี 2556 มาจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่ต้องจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ 1) ผลผลิตและสต็อกโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก 2) เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงจากผลกระทบจากมาตรการ QE3 ของสหรัฐอเมริกาและวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป โดยประธานธนาคารกลางยุโรปเตือนว่ายุโรปยังไม่หลุดพ้นปัญหาเศรษฐกิจจนถึงครึ่งหลังปี 2556 3) สภาพอากาศที่แปรปรวนในสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองของโลกกำลังเผชิญภัยแล้งอาจส่งผลให้ถั่วเหลืองตึงตัวอีกครั้ง ทำให้มีความต้องการน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าจะเกิดเอลนิโญหรือไม่ หากเกิดในช่วงครึ่งหลังปี 2556 ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตในปีนี้ 4) ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเริ่มใช้มาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ที่ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อตลาด โดยมาเลเซียได้ปรับโครงสร้างภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจากเดิมที่เก็บร้อยละ 23 เหลือร้อยละ 0 กรณีราคาตลาดโลกต่ำกว่า 2,250 ริงกิตต่อตัน และเก็บภาษีร้อยละ 4.5 - 8.5 สำหรับราคาที่สูงกว่า 2,250 ริงกิตต่อตัน เพื่อระบายสต็อกและแย่งส่วนแบ่งตลาดกลับจากอินโดนีเซีย หลังจากที่อินโดนีเซียลดภาษีเหลือร้อยละ 7.5 ในปีก่อน ส่วนอินเดียซึ่งเป็นผู้นำเข้าเริ่มเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบร้อยละ 2.5 เพื่อปกป้องพืชน้ำมันในประเทศ หลังจากที่ไม่ได้เก็บมาตั้งแต่ปี 2551 และจีนเริ่มใช้มาตรการควบคุมคุณภาพการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่เข้มงวดขึ้นอาจทำให้การนำเข้าชะลอลง 5) ราคาน้ำมันดิบยังผันผวน ในขณะที่อัตราการขยายตัวของการผลิตไบโอดีเซลโลกชะลอลงเรื่อยๆ อย่างเห็น ได้ชัด โดยขยายตัวร้อยละ 7.5 5.0 4.0 และ 1.0 ตั้งแต่ปี 2552-2555 ตามลำดับ
จากการที่อัตราเพิ่มของผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็วกว่าความต้องการทำให้ราคาผันผวน ประเทศผู้ผลิตจึงมีแนวคิดที่จะบริหารจัดการแบบยั่งยืน โดยหันมาสนับสนุนการบริโภคในประเทศมากขึ้น เช่นในประเทศมาเลเซียแม้จะสามารถผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในประเทศเอง ก็ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B5 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปีนี้ จากเดิมที่ประกาศใช้เพียงบางรัฐ และขยายเป็น B10 ในปี 2557 ขณะเดียวกันส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น เพราะการหวังพึ่งพาตลาดต่างประเทศค่อนข้างลำบาก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง มีการแข่งขันสูงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกัน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในวงกว้างหรือ Megatrends ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและระบบนิเวศจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น การขาดแคลนทรัพยากรและน้ำมันปิโตรเลียม โดยหลายประเทศหันมาสนใจออกมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางหลักในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าต่อไปในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งทำให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนมากขึ้น เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในอเมริกาใต้และแอฟริกามากขึ้น อาทิ ในโคลัมเบียและไนจีเรีย เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยภาครัฐควรเร่งผลักดันพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นการระดมความคิดจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันในการวางโครงสร้างของระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการใช้ในอุตสาหกรรมและการบริโภคในประเทศควบคู่ไปด้วย น่าจะเป็นแนวทางบริหารจัดการแบบยั่งยืน ดีกว่าการแทรกแซงราคาเหมือนที่ผ่านมา
References United States Department of Agricultural The Solvent Extractors’ Association (SEA) Palm Oil Economic Review and Outlook Seminar 2013 www.mpob.gov.my www.mpoc.org.my กรมการค้าภายใน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย