ยางพารา Green commodity สู่ "Green productivity

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2013 15:20 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

กฤษณี พิสิฐศุภกุล มีนาคม 2556 2556

คงปฎิเสธไม่ได้ว่ายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ในฐานะที่ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2555 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูก 18.5 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 3.611 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 32.97 ของปริมาณผลผลิตรวมของโลก เมื่อพิจารณาด้านการส่งออก ไทยยังคงเป็นประเทศส่งออกอันดับ 1 ด้วยปริมาณการส่งออก 2.708 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 35.04 ของปริมาณการส่งออกรวมของโลก นอกจากนี้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 572,716.3 ล้านบาท ซึ่งจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมดของไทย ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราจึงเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการสร้างรายได้ตั้งแต่เกษตรกรชาวสวนจนกระทั่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา

ปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิต (Output) ยางพาราอย่างเดียว คงไม่เพียงพอกับการยกระดับรายได้ การเพิ่มผลิตภาพหรือ productivity กลายมาเป็นจุดสนใจของกระบวนการผลิตที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโต โดยผลิตภาพ (Productivity) หมายถึง ปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้เทียบกับปริมาณปัจจัยการผลิตที่ใส่เข้าไป เช่น วัตถุดิบ แรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น ผลิตภาพ จึงถูกเรียกว่า ความสามารถในการผลิตของการใช้ปัจจัยการผลิต 1 หน่วย หรือเป็นตัวสะท้อนความสามารถในการผลิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผลิตภาพการผลิตและสิ่งแวดล้อมถูกเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบจากกระบวนการผลิตทำให้เกิดการผลิตก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO 2) ก๊าซมีเทน (CH 4) เป็นต้น จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global warming) ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายๆประเทศทั่วโลกตระหนัก และให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้แนวคิดเพิ่มผลิตภาพเดิม ถูกแทนที่ด้วย "ผลิตภาพสีเขียว (Green productivity: GP)" โดยแนวคิด GP ให้ความสำคัญถึงกระบวนการปรับปรุงในเชิงธุรกิจและการบริหารการจัดการ มุ่งให้เกิดการลดต้นทุน และเพิ่มผลิตภาพ บนพื้นฐานการตระหนักถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อจะนำไปสู่ผลกำไรสูงสุด นับว่าแนวคิด GP มีบทบาทเป็นตัวแปรสำคัญของโลกปัจจุบันในการตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาผลผลิตและสินค้าอย่างยั่งยืน

สำหรับยางพาราจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสีเขียว (Green commodity) กล่าวคือ เป็นพืชที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยช่วยดูดซับ CO2ในอากาศ และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เนื่องจากยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุเวลายาวนาน จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรพบว่า ต้นยางพาราสามารถดูดซับ CO2 มาเก็บรักษาไว้ในรูปสารคาร์บอนชนิดต่างๆได้ไม่น้อยกว่า 1.7 เมตริกตัน/ไร่/ปี ถ้าวงจรการปลูกยางพาราตั้งแต่ปลูกจนถึงการตัดโค่น 25 ปีจะสามารถกักเก็บ CO2 ได้ 21.2 เมตริกตัน/ไร่ ที่อยู่ในสภาพของอินทรีย์วัตถุ ซากใบ กิ่งก้าน ผล เมล็ดไม่น้อยกว่า 8 เมตริกตัน/ไร่ เป็นอาหารพืชและสัตว์แล้วสลายเป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่พื้นดินหมุนเวียนกลับมาใช้อีก และจะสามารถกักเก็บสารคาร์บอนได้ 43 เมตริกตัน/ไร่ ไว้ในต้นยาง เพื่อสร้างผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้ นอกจากนี้ ยางพารายังเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำไปจัดทำโครงการขายคาร์บอนเครดิต (Carbon credits)*(1) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ผลผลิตที่ได้จากยางธรรมชาติมี 2 ประเภทหลัก คือ น้ำยาง และไม้ยางพารา ทั้งนี้การกรีดต้นยางพารา ทำให้ได้น้ำยางสด (Field latex) และเศษยางหรือยางก้นถ้วย (Cup lump) เกษตรกรจะนำน้ำยางสดที่ได้ส่วนใหญ่มาทำเป็นยางแผ่นดิบเพื่อจำหน่ายต่อให้กับอุตสาหกรรมกลางน้ำหรือยางแปรรูป เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครพ เป็นต้น จากนั้นจะถูกส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมยางกลุ่มปลายน้ำหรือผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางล้อรถยนต์/รถจักรยานและจักรยานยนต์ ถุงมือยาง ยางยืด ยางรัดของ เป็นต้น จะเห็นว่า จากยางธรรมชาติเมื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง และสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ได้มาก ซึ่งอุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากมีความสามารถในการพึ่งพิงวัตถุดิบที่หาได้ (Available resources) ภายในประเทศสูง

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่ายางพาราเป็นพืชลดโลกร้อน หรืออุตสาหกรรมยางพาราเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต ทางภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับประเทศไทยจากการเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง จำเป็นจะต้องสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับเวทีโลกผ่าน การพัฒนาตามแนวคิด GP ซึ่งการดำเนินงานตามแนวคิด GP ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้น 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ความสามารถในการทำกำไร (Profitability) ควรเร่งยกระดับผลิตภาพของแรงงาน กล่าวคือ ส่งเสริมให้เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย ใช้ระบบการกรีดห่างเหมือนเกษตรกรสวนยางขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและให้ผลผลิตต่อครั้งเพิ่มขึ้น กำไรที่เกษตรกรควรจะได้รับจึงเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับภาคอุตสาหกรรม ต้องเน้นการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย (Product champion) ตลอดจนสร้างความแตกต่างของคุณภาพสินค้าอย่างชัดเจน (Differentiated product) 2) คุณภาพ (Quality) สร้างความเข้มแข็งโดยการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนของสถาบันเกษตรกร ให้มีมาตรฐานที่สามารถขอรับรองกระบวนการผลิตตามระบบคุณภาพโรงงานที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ทั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้มาตรฐานยางไทยเป็นที่เชื่อถือในตลาดโลก และยังเป็นการสร้างเกราะป้องกันผลิตภัณฑ์ยางไทยจากมาตรการกีดกันทางการค้าและไม่ใช่การค้าอีกด้วย และ 3) สิ่งแวดล้อม(Environment) ต้องแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมยางพาราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงาน การปรับปรุง line การผลิตทางด้านเครื่องจักรและเปลี่ยนพลังงานเพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มมูลค่าโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง ทั้งลดการใช้พลังงานและลดปริมาณของเสีย จากแนวคิดดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำกับภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า พืชยางพาราและสินค้ายางพาราควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

          บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

          * (1) Carbon credits คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ ถูกจัดทำเป็นเอกสิทธิ์และวัดเป็นมูลค่าก่อนนำไปขายเป็นเครดิตให้กับประเทศอื่นๆ

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ