FAQ Issue 80: บทเรียนประชานิยมบนเส้นทางกรีซและละตินอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2013 16:05 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 80

บทเรียนประชานิยมบนเส้นทางกรีซและละตินอเมริกา

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์

Summary

ประสบการณ์ของประเทศซึ่งนำนโยบายประชานิยมมาใช้ ที่สำคัญได้แก่ กรีซ และกลุ่มละตินอเมริกา เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายนี้ และให้บทเรียนต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจประเทศอื่น

กรีซ เน้นนโยบายประชานิยมด้วยการขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมประชาชนในวงกว้าง และจ่ายเบี้ยบำนาญในอัตราสูงเกินฐานะของประเทศ หนี้สาธารณะต่อ GDP จึงเร่งตัวและอยู่ในระดับสูง รวมถึงการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของแรงงาน ผลิตภาพ (Productivity) จึงอยู่ในระดับต่ำ ประเทศขาดความสามารถในการแข่งขัน และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มละตินอเมริกา อาจมีภาระรายจ่ายด้านสวัสดิการไม่สูงเท่ากรีซ แต่ที่ทาให้มีปัญหารุนแรงมาจากการใช้นโยบายที่มีผลบิดเบือนกลไกตลาดรุนแรง อาทิ การคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศมากเกินไปจนการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน นโยบายเพิ่มค่าจ้างแต่ไม่ให้ผู้ผลิตเพิ่มราคาสินค้า ทำให้ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ โครงสร้างเศรษฐกิจจึงอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ ที่สำคัญ ทั้งสองตัวอย่างมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจภายในขาดความสมดุล เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศทั้งสองจึงเข้าสู่วิกฤติ

ประสบการณ์จากกรีซ และละตินอเมริกา ให้แง่คิดการดำเนินนโยบายต่อประเทศอื่นที่สำคัญ ได้แก่ (1) การก่อหนี้สาธารณะในระดับสูงในช่วงปกติ จะลดทอนศักยภาพของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบในช่วงวิกฤติ และความรุนแรงของวิกฤติ ส่วนหนึ่งขึ้นกับระดับหนี้สาธารณะที่พร้อมจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะการก่อหนี้ต่างประเทศ จะส่งผลให้หนี้ในรูปเงินสกุลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพราะในยามวิกฤติค่าเงินจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว (2) การดาเนินนโยบายด้านสวัสดิการต้องพิจารณาการจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอครอบคลุมถึงภาระในอนาคต และความสามารถในการจ่ายสวัสดิการยามประเทศเข้าสู่วิกฤติ (3) นโยบายที่บิดเบือนกลไกตลาด จะสร้างความเสียหายต่อประเทศ เพราะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอเปราะบางต่อ Shock และหากอัตราแลกเปลี่ยนขาดความยืดหยุ่นที่จะช่วยให้เศรษฐกิจปรับสมดุลได้ดีขึ้นย่อมเพิ่มโอกาสในการเกิดวิกฤติ

บทนำ

วินัยทางการคลังเป็นเป้าหมายสำคัญในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ด้วยการดูแลฐานะการคลังให้มีความเข้มแข็ง และเก็บ “เสบียง” พร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ*(1) ทางเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะในยามที่นโยบายการเงินไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ดังนั้น หากรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวจนขาดวินัยทางการคลังไม่เพียงไม่เหลือ “เสบียง” แต่อาจเป็น “ระเบิดเวลา” ทางเศรษฐกิจได้

นโยบายประชานิยมเป็นนโยบายหนึ่งที่สร้างความกังวลต่อการขาดวินัยทางการคลังกล่าวคือ ธรรมชาติของนโยบายประชานิยมที่มักได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลประโยชน์ แต่กลับสร้างผลลบ (Negative Externality) เชิงนโยบายต่อประชาชนส่วนใหญ่ *(2) ที่สำคัญคือ ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงมากขึ้นเพราะทศวรรษที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองไทยด้วยนโยบายนี้มากขึ้น ในรูปแบบที่หลากหลายจากอดีตที่จำกัดเพียงการดาเนินนโยบายผ่านงบประมาณแผ่นดินโดยตรง มาผ่านการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ*(3) เพิ่มขึ้น ทาให้ภาครัฐมีภาระที่ซ่อนเร้น (Contingent Liability) มากขึ้นรวมถึงพัฒนารูปแบบเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด*(4) อาทิ นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ โครงการการรับจำนำข้าวจึงเพิ่มความเสี่ยงด้านการคลัง และอาจทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอได้

บทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายนี้และนัยต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปด้วยการรวบรวมประสบการณ์ของประเทศที่ได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจจากการนำนโยบายนี้มาใช้ได้แก่ (1) กรีซ ที่ดำเนินนโยบายนี้จนเศรษฐกิจสะสมความเปราะบางและไม่สามารถทนต่อ Shock จนนาไปสู่วิกฤติของกลุ่มประเทศยูโร (2) กลุ่มละตินอเมริกา ที่ผลของนโยบายนี้ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักในทศวรรษที่ 1980 จนถูกมองว่าเป็น “Lost Decade” ของภูมิภาคนี้*(5)

1. กรีซ

กรีซดำเนินนโยบายประชานิยมมากว่า 3 ทศวรรษงานศึกษาส่วนหนึ่ง*(6) ชี้ว่าพรรคPanhellenic Socialist Movement หรือเรียกสั้นๆ ว่า “PASOK” นานโยบายนี้มาหาเสียงครั้งแรกในปี 1981 ทำให้พรรค PASOK ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นโยบายนี้ จึงไม่ได้สร้างความนิยมในหมู่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังอำนวยประโยชน์ให้นักการเมือง จึงเกิดการเสพติดทั้งผู้ให้และผู้รับ

1.1 นโยบายประชานิยมในกรีซเป็นอย่างไร?

กรีซเน้นขยายสวัสดิการ และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพแรงงาน จึงสร้างภาระรายจ่ายผูกพันภาครัฐ และการแทรกแซงกลไกตลาดได้สร้างความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจกล่าวคือ

(1.1.1) การสร้างภาระรายจ่ายผูกพันจากการขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมประชาชนในวงกว้าง และให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงาน จึงมีกองทุนเพื่อสวัสดิการสังคมมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2004 มีจำนวนมากถึง 173 กองทุน*(7) ในจานวนนี้เป็นกองทุนที่ดูแลสวัสดิการแรงงานสูงถึง 95 กองทุน และสวัสดิการที่ให้จะเน้นการจ่ายเบี้ยบานาญให้ผู้สูงอายุ (Old Age) โดยให้ผลตอบแทนสูงสุดในกลุ่ม OECD (BOX 1) ทั้งที่ความสามารถในการหารายได้ภาครัฐอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่ม OECD8 และจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health) คิดเป็นสัดส่วนรวมมากกว่าร้อยละ 70 ของรายจ่ายสวัสดิการทั้งหมด ที่สำคัญ รัฐบาลกรีซมีแนวโน้มจัดสรรสวัสดิการ โดยไม่คำนึงถึงภาระที่เกิดขึ้นในอนาคต เพราะรายจ่ายสวัสดิการที่เร่งตัวขึ้นในช่วงหลัง ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างประชากรที่มีคนวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) น้อยลง แต่มีผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) มากขึ้น

BOX 1 : การจ่ายเบี้ยบานาญในกรีซ

การจ่ายเบี้ยบำนาญในกรีซเป็นประเด็นที่มีการกล่าวขานกันมาก เพราะกรีซจ่ายเบี้ยบำนาญให้ผู้เกษียณอายุสูงสุดในกลุ่ม OECD ทั้งที่มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก และรายได้ต่อหัวไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่ม OECD โดยผู้เกษียณอายุจะได้เบี้ยบำนาญคิดเป็นร้อยละ 96 ของผลตอบแทนที่ได้รับก่อนเกษียณ ( เป็นผลจากวิธีการกำหนดฐานเงินได้เพื่อคำนวณเบี้ยบำนาญเป็นหลัก โดยกรีซใช้ฐานเงินได้เฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีเงินได้สูงสุด (เงินได้ส่วนใหญ่เพิ่มตามอายุงาน) ขณะที่ประเทศอื่นจะใช้ฐานเงินได้ตลอดช่วงอายุทางานหรือปีที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด 15-35 ปีย้อนหลัง รายจ่ายส่วนนี้จึงมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของรายจ่ายด้านสวัสดิการทั้งหมด

ดังนั้น รายจ่ายสวัสดิการต่อ GDP ของกรีซจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 10 ในปี 1980 เป็นร้อยละ 24 ในปี 2009 หมายความว่ารายได้ของประเทศเติบโตช้ากว่าความต้องการดูแลสวัสดิการประชาชนของภาครัฐ และสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 เทียบกับรายจ่ายภาครัฐทั้งหมดแสดงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับรายจ่ายส่วนนี้มากจนเบียดบัง รายจ่ายสำคัญอื่นๆ อาทิ รายจ่ายลงทุนที่ถูกลดความสำคัญลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

(1.1.2) การแทรกแซงค่าจ้างแรงงาน โดยกำหนดให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่อง*(9) อย่างไม่สอดคล้องกับศักยภาพของแรงงาน โดยรัฐบาลกรีซไม่เพียงกำหนดให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่องแต่ใช้กลไกภาครัฐเป็นเครื่องมือดึงค่าแรงขึ้น ด้วยการขยายการจ้างงาน*(10) และจ่ายค่าแรงรัฐวิสาหกิจมากกว่าภาคเอกชนถึงร้อยละ 32*(11) ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ OECD จะเห็น รัฐบาลกรีซจ่ายค่าแรงให้ข้าราชการคิดเป็นร้อยละ 32 ของรายจ่ายค่าแรงแรงงานทั้งประเทศ (แท่งสีน้ำตาล ถ้าเป็นประเทศอื่นจะเป็น แท่งสีแดง) แต่รัฐบาลมีการจ้างงานเพียงร้อยละ 24 ของการจ้างงานทั้งหมด (แท่งสีน้าเงินเข้ม ถ้าเป็นประเทศอื่นจะเป็นสีฟ้า) หมายความว่า รัฐบาลจ่ายค่าแรงต่อหัวสูงกว่าภาคเอกชนโดยเฉลี่ย นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศ พบว่า รัฐบาลกรีซจ่ายผลตอบแทนต่อหัวสูงที่สุดใน OECD (ประเทศอื่นมีส่วนต่างของแท่งสีแดงและแท่งสีฟ้าไม่มากนัก) ทั้งที่ความสามารถในการหารายได้อยู่ในระดับต่ำประกอบกับภาครัฐมีการจ้างงานสูงถึง 1 ใน 4 ของการจ้างงานทั้งหมด จึงมีอิทธิพลต่อการปรับค่าจ้างภาคเอกชนในระดับหนึ่งและค่าจ้างโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น

ผลกระทบโดยตรงคือกรีซสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโร เพราะต้นทุนแรงงานต่อหน่วย(Unit Labor Cost) ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเทียบกับการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพของแรงงานของกรีซเพิ่มขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งผลิตภาพของแรงงาน*(12) (Labor Productivity) เพิ่มขึ้นช้ากว่าการปรับตัวของค่าจ้างมากความสามารถในการแข่งขันจึงอยู่ในระดับต่ำที่สุด

1.2 ผลการใช้นโยบายประชานิยมในกรีซคืออะไร?

ผลการใช้นโยบายประชานิยมในกรีซที่ สำคัญคือ (1.2.1) หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงกล่าวคือ การใช้นโยบายประชานิยมมากและยาวนานทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23 ในปี 1980 เป็นร้อยละ 60 ในปี 1989 แต่รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ในส่วนของรัฐวิสาหกิจและเอกชน13 เพิ่มขึ้น ในเวลาไม่กี่ปีสัดส่วนหนี้สาธารณะเร่งตัวมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 100 ในปี 1993 สะท้อนว่า หากรัฐบาลใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง หนี้สาธารณะสามารถเร่งตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกรณีนี้ชี้ได้ชัดเจนว่า ในเวลาเพียง 14 ปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ที่สาคัญ ก่อนที่กรีซจะเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศยูโรได้พยายามลดสัดส่วนหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบ (ร้อยละ 60) แต่ไม่สำเร็จ*(14) จึงเชื่อได้ว่า เป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลกรีซตบแต่งสถิติ จนเป็นประเด็นที่มีการกล่าวขานกันมากในช่วงต้นปี 2012*(15)

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 รัฐบาลไม่สามารถต่ออายุหนี้ (Refinance) ได้*(16) จึงมีผลให้กรีซเข้าสู่วิกฤติในที่สุด ที่สำคัญ ในช่วงวิกฤติ เศรษฐกิจตกต่ำ หนี้สาธารณะเร่งตัวขึ้น ความน่าเชื่อถือรัฐบาลลดลง และดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รายได้ไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย จึงยิ่งซ้าเติมให้หนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นวงจรเลวร้ายต่อเศรษฐกิจ (Vicious Cycle) และภาคการคลังที่ควรมีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติ กลับสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง

นอกจากนี้ รัฐบาลจะไม่สามารถลดทอนรายจ่ายลงได้เร็วนัก แม้ประเทศเข้าสู่วิกฤติ และเมื่อรัฐบาลประกาศลดรายจ่ายสวัสดิการลงทำให้เกิดแรงกดดันในหมู่ประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการจลาจลในกรีซ ทาให้ประเทศต้องขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในประเทศในที่สุด

(1.2.2) บัญชีเดินสะพัดขาดดุลในระดับสูง จากนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของแรงงานทำให้กรีซมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ แต่ปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศยูโร เพราะ (1) รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง*(17) และ (2) การใช้เงินสกุลยูโรที่ไม่ปรับค่าตามพื้นฐานเศรษฐกิจของกรีซ*(18) ทำให้กรีซใช้เงินสกุลที่แข็งค่ากว่าเศรษฐกิจ หมายความว่า ประชาชนสามารถนำเข้าสินค้าและบริการในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเท่ากับเพิ่มอำนาจซื้อทางอ้อม จึงกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน เท่ากับซ้าเติมให้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงขึ้น ที่สำคัญ ปัญหานี้สะท้อนว่า กรีซมีการก่อหนี้ต่างประเทศในระดับสูงอีกทางหนึ่งด้วย (เงินออมภายในประเทศไม่เพียงพอใช้จ่าย)

2 กลุ่มละตินอเมริกา

งานศึกษาจำนวนหนึ่ง*(19) ชี้ว่า จุดเริ่มต้นของนโยบายประชานิยมในกลุ่มละตินอเมริกามาจากกลุ่มข้าราชการคิดมาตรการเพื่อชดเชยให้แก่ครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในระดับสูง โดยรายได้เฉลี่ยของคนรวยสุดสูงกว่าคนจนสุดโดยเฉลี่ยสูงถึง 21 เท่า (ค่าเฉลี่ยเอเชีย 9 เท่า) ในช่วงปลายทศวรรษ 1960-ต้นทศวรรษ 1970 จึงเป็นแรงจูงใจให้นักการเมืองฝ่ายซ้าย*(20) (Left-wing Political Parties) นำนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างจริงจัง

2.1 นโยบายประชานิยมในละตินอเมริกาเป็นอย่างไร?

นโยบายประชานิยมที่กลุ่มละตินอเมริกาใช้คล้ายกรีซ แต่ที่ทำให้กลุ่มละตินอเมริกามีปัญหารุนแรงมาจากการแทรกแซงกลไกตลาดรุนแรง เช่น สร้างแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องแก่ภาคเอกชน เมื่อประกอบกับการก่อหนี้ต่างประเทศภาครัฐในระดับสูง เศรษฐกิจจึงสะสมความเปราะบางและนำมาสู่การไร้เสถียรภาพในที่สุด

(2.1.1) การสร้างภาระผูกพันจากรายจ่ายสวัสดิการภาครัฐ โดยในช่วง 3 ทศวรรษระหว่างปี1970-2000 หลายประเทศมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐต่อ GDP สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.8 โดยเฉพาะอุรุกวัย (URU) ที่มีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งเพราะประเทศเหล่านี้ เริ่มจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนก่อนประเทศอื่นในภูมิภาค*(21) ภาระผูกพันต่างๆ ขยายตามโครงสร้างประชากรและความครอบคลุมที่เพิ่มขึ้นเป็นลาดับ*(22) สวัสดิการที่ให้ส่วนใหญ่ คือ การประกันสุขภาพและเบี้ยบำนาญคล้ายกรีซ แต่เน้นด้านสุขภาพ โดยมีสัดส่วนมากที่สุด*(23)

(2.1.2) นโยบายที่มีผลบิดเบือนกลไก ตลาด ตัวอย่างนโยบายที่รัฐบาลอาร์เจนติน่า นำมาใช้ เช่น ในช่วงทศวรรษ 1940 รัฐบาลประกาศควบคุมราคาอาหาร ควบคุมค่าเช่าในเมืองหลวง สั่งลดค่าโดยสารรถราง ซึ่งเป็นการอุดหนุนรายจ่ายให้แก่ประชาชนเป็นหลัก แต่ในทศวรรษ 1950 ระดับการบิดเบือนกลไกตลาดรุนแรงขึ้นด้วยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของภาคเอกชน โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การให้อัตราแลกเปลี่ยนในอัตราพิเศษ การตั้งกำแพงภาษีคุ้มครอง การจำกัดและห้ามนำเข้าสินค้าบางอย่างที่เป็นคู่แข่ง และสนับสนุนรัฐวิสาหกิจทำอุตสาหกรรมหนัก และได้รับการสนับสนุนเหมือนเอกชน รวมถึงยึดกิจการบางอย่างที่อยู่ในมือของชาวต่างชาติมาเป็นของรัฐ โดยเฉพาะกิจการโทรคมนาคม และรถไฟ*(24) นอกจากนี้ ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ได้ประกาศควบคุมราคาสินค้าในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่เร่งตัวสูงขึ้น พร้อมกับเพิ่มค่าจ้างแรงงานโดยมีเป้าหมายให้แรงงานได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น และลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยคนจนให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

2.2 ผลการใช้นโยบายประชานิยมในละตินอเมริกาคืออะไร?

รายจ่ายด้านสวัสดิการแม้จะภาระต่อภาครัฐแต่โดยภาพรวมมิได้สูงเหมือนกรณีกรีซ แต่การใช้นโยบายประชานิยมในการลักษณะบิดเบือนกลไกตลาดรุนแรงทำให้เศรษฐกิจละตินอเมริกาสะสมความเปราะบางและนำมาสู่การไร้เสถียรภาพและเกิดวิกฤติในทศวรรษที่ 1980 กล่าวคือ

(2.2.1) โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอจากการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของภาคเอกชนในลักษณะคุ้มครองมากเกินไป สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะเริ่มต้น(Infant Industry) อย่างไม่ถูกต้อง ทาให้โครงสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศอ่อนแอ และการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยผลผลิตต่อหน่วยของแรงงานลดลงเป็นลำดับ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา และติดลบในช่วงทศวรรษ 1980-1990 สะท้อนว่า อัตราการขยายตัวของผลผลิตที่เกิดขึ้นต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของปัจจัยการผลิตที่เพิ่มเข้าไปในกระบวนการผลิต

(2.2.2) ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าคุณภาพและกลไกตลาดไม่ทำงาน จากนโยบายเพิ่มค่าจ้างแรงงาน พร้อมกับควบคุมราคาสินค้าในประเทศ ผลคือ ระยะสั้นแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การควบคุมราคาสินค้ามีผลให้ (1) ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและ (2) เกิดตลาดมืด มีผลให้ราคาสินค้าที่แท้จริงเพิ่มขึ้นส่งผลต่อเสถียรภาพในประเทศขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ จากต้นทุนค่าแรงเพิ่ม และวัตถุดิบต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (คุณภาพสินค้าในประเทศไม่มีคุณภาพพอ) ทำให้ดุลการค้าและดุลการชำระเงินขาดดุล ส่งผลให้ค่าเงินที่แท้จริงอ่อนค่าลง แต่รัฐบาลไม่ยอมลดค่าเงิน เนื่องจากภาครัฐและเอกชนมีหนี้ต่างประเทศในระดับสูง (BOX 2 หนี้ต่างประเทศภาครัฐมาจากไหน?) ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง*(25) และเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ

BOX 2 : หนี้ต่างประเทศภาครัฐในละตินอเมริกามาจากไหน?

หนี้ต่างประเทศของภาครัฐเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการสาธารณูปโภคและเป็นผูกขาดการส่งออกน้ำมัน และสินแร่ ประกอบกับในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้เริ่มทยอยเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้อุปทานเงินจำนวนมากไหลเข้ามาในภูมิภาคตามการขยายตัวของระบบธนาคารระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ จึงหันมากู้เงินจากต่างประเทศมากขึ้นเพราะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าในประเทศ ขณะที่ประเทศเหล่านี้ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เมื่อเงินทุนไหลเข้ามากและการนำเข้าเพิ่มขึ้น จึงเกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดส่งผลให้ค่าเงินแข็งกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันโลก อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาธนาคารกลางหลายแห่งจึงนำระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นขึ้น (Crawling Peg Regime) มาใช้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ค่าเงินในภูมิภาคจึงอ่อนค่าลงจึงส่งผลให้ภาระหนี้ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินภายในประเทศ จึงทำให้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศภาครัฐต่อ GDP ของทุกประเทศในภูมิภาคเร่งตัวขึ้นเสถียรภาพต่างประเทศของภูมิภาคนี้จึงเปราะบางมาก

ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้กู้สำคัญของภูมิภาคนี้ เร่งตัวสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1979 และเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงจนถึงปี1982 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง สภาพคล่องใน ละตินอเมริกาจึงลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกับอัตรา ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดการเงินภายในภูมิภาคตึงตัวขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุดได้นำไปสู่ปัญหาล้มละลายของผู้กู้ และเงินทุนจำนวนมากไหลออกอย่างต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์จำนวนมากต้องปิดตัวลง ในที่สุด ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินการคลังรุนแรงที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกไว้

เมื่อมีแรงกดดันจากภายในและต่างประเทศในที่สุด รัฐบาลต้องลดค่าเงิน และทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 1983-1990 การสะสมความเปราะบางเช่นนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลด้วยการออกพันธบัตรระดมทุนในต่างประเทศในจำนวนที่มากขึ้นแต่พันธบัตรของรัฐบาลไม่ได้รับความเชื่อถือเนื่องจากเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ จึงไม่สามารถระดมเงินได้เพียงพอกับการชดเชยขาดดุล และหนี้สินส่วนเดิมไม่ต่อสามารถต่ออายุได้ ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล และเปรูเปลี่ยนมาแก้ปัญหาโดยให้ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุล จนทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation)

ที่สำคัญ ผลที่คาดหวังจากการดำเนินนโยบายกลับซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นกล่าวคือ การเพิ่มค่าจ้างแรงงานโดยหวังเพิ่มรายได้ให้แรงงาน แต่แรงงานต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและการว่างงานจากการผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตอื่น โดยเฉพาะที่ดิน ปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ จึงทำให้ผลประโยชน์สุทธิตกแก่เจ้าของที่ดินคือ กลุ่มชนชั้นสูง จึงยิ่งทาให้ความเหลื่อมล้าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

3. บทเรียนจากกรีซและละตินอเมริกาต่อการดำเนินนโยบายในประเทศอื่น

ในการกำหนดนโยบาย หน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างพยายามทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ภายใต้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต่างกัน อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยนานโยบายประชานิยมมาใช้เพิ่มขึ้นหลายเท่า แม้จะเป็นเวลาไม่นานนักเมื่อเทียบกับกรีซและละตินอเมริกา แต่การเร่งตัว และรูปแบบนโยบายที่เริ่มมีการแทรกแซงกลไกราคา โดยเฉพาะโครงการการรับจำนำข้าว ที่ทำให้ระดับการค้าประกันหนี้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนระดับสูง หลายประเทศในและนอกภูมิภาคเริ่มเก็บ“เสบียง” พร้อมรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป แต่ไทยยังเร่งก่อหนี้สาธารณะ

ผลการดำเนินนโยบายประชานิยมในกรีซและละตินอเมริกา จึงให้แง่คิดต่อการดำเนินนโยบายนี้ในประเทศอื่นที่สาคัญ ได้แก่

3.1 การก่อหนี้สาธารณะในระดับสูงในช่วงปกติ จะลดทอนศักยภาพของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบในช่วงวิกฤติ ดังนั้น ในช่วงปกติการรักษาวินัยทางการคลัง และการก่อหนี้สาธารณะตามความจำเป็นมีความสำคัญเป็นลำดับแรก

ปัจจัยเร้าที่ส่งเสริมให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นที่สำคัญคือ การก่อหนี้ต่างประเทศภาครัฐในยามวิกฤติ ค่าเงินมักอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว หนี้ต่างประเทศในรูปเงินสกุลท้องถิ่นจะเร่งตัวขึ้น เช่นที่เกิดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และภาคการคลังที่ควรมีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติจะกลายเป็นผู้สร้างปัญหาและเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ความโปร่งใสของข้อมูลหนี้สาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากรัฐบาลพยายามตกแต่งข้อมูล เพื่อผลประโยชน์เช่นกรีซย่อมพอกพูนปัญหาให้ใหญ่ขึ้นโดยไม่จำเป็น

3.2 การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการต้องพิจารณาการจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอครอบคลุมถึงภาระในอนาคต และความสามารถในการใช้จ่ายยามประเทศเข้าสู่วิกฤติ เนื่องจากการใช้จ่ายด้านสวัสดิการเป็นภาระผูกพันที่ขยายตัวต่อเนื่องตามอายุและจานวนประชากร และไม่สามารถยกเลิกได้โดยง่าย โดยเฉพาะในยามวิกฤติที่ประชาชนมีรัฐเป็นที่พึ่งสำคัญ การลดทอนสวัสดิการในยามที่ประชาชนกำลังสิ้นหวังทางเศรษฐกิจอาจเป็นชนวนนำไปสู่จลาจลจนประเทศไร้เสถียรภาพเช่นที่เกิดในกรีซได้

3.3 นโยบายที่สร้างความเสียหายต่อประเทศรุนแรง คือ การบิดเบือนกลไกตลาด แม้ว่าจะไม่สร้างภาระในรูปตัวเงินต่อภาครัฐ แต่ทำให้เศรษฐกิจสะสมความอ่อนแอ และขาดเสถียรภาพทั้งในและต่างประเทศ และสามารถนำพาประเทศเข้าสู่วิกฤติได้โดยง่าย นอกเหนือจากการที่กลไกตลาดไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

4. สรุป

กรีซ และกลุ่มละตินอเมริกานำนโยบายประชานิยมมาใช้มีผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDP อยู่ในระดับสูง ประเทศขาดความสามารถในการแข่งขัน โครงสร้างเศรษฐกิจเปราะบาง เมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ

บทเรียนเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ (1) การก่อหนี้สาธารณะในระดับสูงในช่วงปกติ จะลดทอนศักยภาพของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบในช่วงวิกฤติ และความรุนแรงของวิกฤติ ส่วนหนึ่งขึ้นกับระดับหนี้สาธารณะที่พร้อมจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะการก่อหนี้ต่างประเทศ ที่ยามวิกฤติค่าเงินจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หนี้ในรูปเงินสกุลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น (2) การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการควรพิจารณาถึงภาระในอนาคต และความสามารถในการจ่ายสวัสดิการยามประเทศเข้าสู่วิกฤติ (3) นโยบายที่บิดเบือนกลไกตลาด จะสร้างความเสียหายต่อประเทศรุนแรง เพราะทาให้โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอ เปราะบางต่อ Shock และหากอัตราแลกเปลี่ยนขาดความยืดหยุ่นที่จะช่วยให้เศรษฐกิจปรับสมดุลได้ดีขึ้นย่อมเพิ่มโอกาสในการเกิดวิกฤติ นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง คือ ความโปร่งใสของข้อมูล เป็นสิ่งที่จาเป็น

*(1) สมชัย สัจจพงษ์และคณะ, การศึกษาวินัยทางการคลังของประเทศไทย (อดีตสู่ปัจจุบัน) และแนวทางในการเสริมสร้างวินัยทางการคลังตามหลักสากล, สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กันยายน 2551.

*(2) Daron Acemoglu, Georgy Egorov and Konstantin Sonin, A Political Theory of Populism, NBER Working Paper No. 17306, September 2012.

*(3) การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ หรือกิจกรรม “กึ่งการคลัง” หมายถึง การใช้จ่ายต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่รัฐบาลไม่ได้จัดสรรเงินงบประมาณให้ (ไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา) โดยส่วนใหญ่จะดาเนินการด้วยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่รัฐบาล เช่น ธนาคารเฉพาะกิจ รัฐวิสาหกิจ และธนาคารกลาง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการดำเนินกิจกรรมนอกงบประมาณในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การดำเนินนโยบายผ่านกองทุนหมุนเวียน การร่วมลงทุนกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP) และการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ผ่าน Special Purpose Vehicle (SPV) เป็นต้น (รายละเอียดดู ณัฐิกานต์, 2008)

*(4) คณะอนุกรรมาธิการ การเงิน การคลัง และงบประมาณ ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน, การวิเคราะห์และศึกษาผลกระทบนโยบายประชานิยม ค่าแรงและเงินเดือนของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ทำได้จริงหรือ?, 2554.

*(5) ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์, วิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกา : บทเรียนที่ไม่ควรละเลย, บทความ FAQ ฉบับที่ 67, 17 เมษายน 2555.

*(6) George Alogoskoufis, Greece’s Sovereign Debt Crisis: Retrospect and Prospect, Hellenic Observatory Papers on Greece and Southeast Europe, No.54, January 2012.

*(7) คาดว่า เป็นจำนวนสูงสุด เพราะในปี 2008 ลดลงเหลือ 133 กองทุน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ศึกษาระบบสวัสดิการในกรีซ และแนะว่า กรีซควรปฏิรูปและควบรวมกองทุนต่างๆ เป็นกรณีเร่งด่วน (IMF Country Report No. 09/244, August 2009)

*(8) OECD, Greece at a Glance Policies for a Sustainable Recovery, 2009.

*(9) Takis S Pappas, The Causes of the Greek Crisis are in Greek Politics, Open Democracy, 29 November 2010.

*(10) OECD, Greece at a Glance Policies for a Sustainable Recovery, 2009.

*(11) Rebekka Christopoulou and Vassilis Monastiriotis, The Greek Public Sector Wage Premium Before the Crisis: Size, Selection and Labor Market Fairness, Working Paper.

*(12) การรวมกลุ่มทางการค้าทำให้กลุ่มประเทศยูโรไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกัน ในทางทฤษฎี ราคาสินค้าของประเทศสมาชิกปรับตัวใกล้กันมากขึ้น หมายความว่าความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศจะขึ้นอยู่กับผลิตภาพ (Productivity) เป็นสำคัญ ซึ่งเครื่องชี้ระดับผลิตภาพสำคัญคือ ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (Unit Labor Cost) ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเทียบกับการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพของแรงงาน

*(13) George Alogoskoufis, Greece’s Sovereign Debt Crisis: Retrospect and Prospect, Hellenic Observatory Papers on Greece and Southeast Europe, No.54, January 2012.

*(14) George Alogoskoufis, January 2012. (อ้างแล้ว)

*(15) Michael Lewis, Boomerang : Travels in the New Third World, W. W. Norton & Company, 2011.

*(16) George Alogoskoufis, , January 2012. (อ้างแล้ว)

*(17) ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์, วิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่ม ประเทศยูโร : นัยต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ, บทความ FAQ ฉบับที่ 68, 8 พฤษภาคม 2555.

*(18) ในทางทฤษฎี พื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอจะสร้างแรงกดดันให้เงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่าลง ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ในที่สุดการบริโภคในประเทศลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น

*(19) Andres Solimano, Political Violence and Economic Development in Latin America: Issuesand Evidence, United Nations: ECLAC, Santiago, Chile, October 2004.

*(20) Andres Solimano, October 2004. (อ้างแล้ว)

*(21) James W. McGuire, Social Policies in Latin America: Causes, Characteristics, and Consequences, ACSPL Working Paper Series Volume1 Article1, 9-13-2011.

*(22) เริ่มตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 1940 ขณะโคลัมเบีย (COL) เปรู (PER) และเวเนซูเอล่า (VEN) เริ่มจัดสรรสวัสดิการในทศวรรษ 1960-1980 จึงทำให้สัดส่วนนี้ไม่สูงนัก

*(23) James W. McGuire, , 9-13-2011. (อ้างแล้ว)

*(24) ไสว บุญมา, ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ, 2555.

*(25) Jeffrey D. Sachs, Social Conflict and Populist Policies in Latin America, NBER Working Paper Series No.2897, March 1989.

Contact author :

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์

เศรษฐกรอาวุโส

ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

สายนโยบายการเงิน

Nutthikv@bot.or.th

บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณทรงธรรม ปิ่นโต คุณพรเพ็ญ สดศรีชัย คุณขจร ธนะแพสย์ คุณสุรัช แทนบุญ คุณศุภโชค ถาวรไกรวงศ์ คุณจารุพรรณ วนิชธนันกูร คุณฉันทวิชญ์ ตันฑสิทธิ์และทีมวิเคราะห์การคลังผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

References (in English) (1)

Andres Solimano, Political Violence and Economic Development in Latin America: Issues and Evidence, United Nations : ECLAC, Santiago, Chile, October 2004.

Anoop Singh and Martin Cerisola, Sustaining Latin America’s Resurgence: Some Historical Perspectives, IMF Working Paper, WP/06/252, November 2006.

Berg, A., and J. Sachs, The Debt Crisis: Structural Explanations of Country Performance, Journal of Development Economics, Vol. 29, No. 3, 1988.

Colin Jennings, The Good, the Bad and the Populist: A Model of Political Agency with Emotional Voters, Discussion Papers in Economics No.09-09, Glasgow, 2009.

Daron Acemoglu, Georgy Egorov and Konstantin Sonin, A Political Theory of Populism, NBER Working Paper No. 17306, September 2012.

Daron Acemoglu, Georgy Egorov and Konstantin Sonin, Political Selection and Persistence of Bad Governments, September 2008.

Daron Acemoglu, Simon Johnson, Jame Robinson and Yunyoug Thaicharoen, Institutional Causes, Macroeconomic Symptoms: Volatility, Crises an Growth, National Bureau of Economic Research, Working Paper 9124, September 2002.

Geoffrey K.Turnbull, The Overspending and Fly Paper Effects of Fiscal Illusion : Theory and Empirical Evidence, Journal of Urban Economics 44, 1-26, 1998.

George Alogoskoufis, Greece’s Sovereign Debt Crisis: Retrospect and Prospect, Hellenic Observatory Papers on Greece and Southeast Europe, No.54, January 2012.

Georgy Egorov, A Populist Paradox, Kellogg Insight Focus on Research, , November 2010.

International Monetary Fund, Greece: 2009 Article IV Consultation—Staff Report, IMF Country Report No. 09/244, August 2009

James W. McGuire, Social Policies in Latin America: Causes, Characteristics, and Consequences, ACSPL Working Paper Series Volume1 Article1, 9-13-2011.

Jeffrey D. Sachs, Social Conflict and Populist Policies in Latin America, NBER Working Paper Series No.2897, March 1989.

Kenneth Coates and Edwin Rivera, Fiscal Dominance and Foreign Debt: Five Decades of Latin America Experience, CEMLA Paper, 2004.

Kris Cox and Chad Stone, “Principle for Fiscal Stimulus”, Center on Budget and Policy Priorities, 11 January 2008.

Nouriel Roubini, The Eurozone Could Break Up Over a Five- Year Horizon, Post on Credit Writedowns, 20 June 2011.

References (in English) (2)

OECD, Greece at a Glance Policies for a Sustainable Recovery, 2009.

Paulo Reis Mourao, Sin of the Elder: Fiscal Illusion in Democracies, Hacienda Publica Espanola, 196, 2011.

Rebekka Christopoulou and Vassilis Monastiriotis, The Greek Public Sector Wage Premium Before the Crisis: Size, Selection and Labor Market Fairness, Working Paper.

Roberto Frankel and Martin Rapetti, A Concise History of Exchange Rate Regimes in Latin America, 2010.

Rudiger Dornbusch and Sebastian Edwards, The Macroeconomics of Populism in Latin America, NBER Working Paper No. 8295, January 1991.

Stuti Khemani and Waly Wane, Populist Fiscal Policy, Policy Research Working Paper 4762, The World Bank Development Research Group, October 2008.

Tyler Cowen, It’s Time to Face the Fiscal Illusion, The New York Times, March 5, 2011.

References (in Thai)

คณะอนุกรรมาธิการ การเงิน การคลัง และงบประมาณ ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน, การวิเคราะห์และศึกษาผลกระทบนโยบายประชานิยม ค่าแรงและเงินเดือนของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ทาได้ จริงหรือ?, 2554.

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์, เครื่องชี้แรงกระตุ้น และตัวคูณทางการ คลังของไทย, บทความประกอบการสัมมนาวิชาการรายเดือน ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2551.

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์, วิกฤติหนี้สาธารณะในละตินอเมริกา : บทเรียนที่ไม่ควรละเลย, บทความ FAQ ฉบับที่ 67, 17 เมษายน 2555.

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์, วิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโร : นัยต่อการดาเนินนโยบายเศรษฐกิจ, บทความ FAQ ฉบับที่ 68, 8 พฤษภาคม 2555.

สมชัย สัจจพงษ์และคณะ, การศึกษาวินัยทางการคลังของ ประเทศไทย (อดีตสู่ปัจจุบัน) และแนวทางในการเสริมสร้าง วินัยทางการคลังตามหลักสากล, สานักนโยบายการคลัง สานักงานเศรษฐกิจการคลัง, กันยายน 2551.

สฤณี อาชวานันทกุล, เทคนิคการซุกหนี้ของรัฐบาลกรีก, กรุงเทพ ธุรกิจ, 9 มกราคม 2555.

ไสว บุญมา, ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ, 2555.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ