ฉบับที่ 16/2556
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของ กนง. สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญและคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงประมาณการ การใช้จ่ายบริโภคในปี 2556 จะขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ครั้งก่อน ส่วนหนึ่งจากการบริโภคสินค้าคงทนที่เร่งตัวมากกว่าคาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขณะที่รายได้และการจ้างงานของภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี นโยบายเพิ่มรายได้ของภาครัฐ และภาวะการเงินที่เอื้ออำนวยจะช่วยรักษาแรงส่งของการบริโภคให้มีต่อเนื่องในระยะข้างหน้า การลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้บ้างในระยะสั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่ดีและภาพรวมอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น จากการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการสินค้าในประเทศที่ขยายตัวสูงและการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีความชัดเจนขึ้นจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนได้อีกทางหนึ่ง สำหรับภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในไตรมาสแรกของปี 2556 การส่งออกสินค้าอาจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้าง แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเครื่องชี้สำคัญของการส่งออกที่เริ่มปรับดีขึ้นเป็นลำดับ
เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังคงมีความเปราะบางและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมในช่วงต้นปี 2556 ชะลอลงจากที่คาดไว้บ้างส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรที่อ่อนแอลงและมาตรการปรับลดงบประมาณของสหรัฐฯ แต่ในช่วงประมาณการที่เหลือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีความชัดเจนขึ้น ภาคเอกชนในสหรัฐฯ ทยอยฟื้นตัว และเศรษฐกิจเอเชีย มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลีและวิกฤตภาคสถาบันการเงินในไซปรัสจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้นเท่านั้น
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัว ในระยะสั้นแรงกดดันเงินเฟ้อต่ำ กว่าที่คาดเล็กน้อย ข้อมูลเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปี 2556 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากราคาในหมวดอาหารเป็นสำคัญ แต่ในระยะต่อไปคาดว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์จะทยอยเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับช่องว่างการผลิต (Output Gap) ที่จะเริ่มเป็นบวกเล็กน้อยในระยะข้างหน้า ส่วนแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนเล็กน้อยจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2556 ที่คาดว่าจะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้เพราะปัญหาความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในช่วงต้นปี ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังคงข้อสมมติการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไว้ตลอดช่วงประมาณการ
ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดี คณะกรรมการฯ เริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจการเงิน สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องพร้อมกับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอาจเพิ่มความเปราะบางของภาคครัวเรือนในอนาคต นอกจากนั้น มีสัญญาณของพฤติกรรมการลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้นทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 และ 2557 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย จากแรงส่งที่ดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 และแรงกระตุ้นภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายในงบประมาณที่สูงขึ้นและความชัดเจนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งทำ ให้คณะกรรมการฯ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากและเร็วกว่าเดิม อย่างไรก็ดี ในปี 2556 ผลบวกจากปัจจัยข้างต้นถูกทอนลงด้วยแนวโน้มอุปสงค์ในช่วงต้นปีที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้บ้าง ทั้งนี้ ตลอดช่วงประมาณการความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ แต่ความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่อาจเบิกจ่ายได้เร็วกว่าในกรณีฐาน แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการเศรษฐกิจจึงปรับจากเบ้ลงเป็นสมดุล
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวและไม่แตกต่างจากครั้งก่อนมากนัก ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อโน้มไปทางด้านสูงเล็กน้อย โดยในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวและปัจจัยการผลิตในประเทศตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในตลาดแรงงานการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าอาจเพิ่มขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการอัตราเงินเฟ้อจึงปรับจากสมดุลเป็นเบ้ขึ้นเล็กน้อย
ร้อยละต่อปี 2555* 2556 2557
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.4 5.1 5.0
(5.9) (4.9) (4.8)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.0 2.7 2.7
(3.0) (2.8) (2.6)
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.1 1.6 1.7
(2.1) (1.7) (1.6) หมายเหตุ: * ข้อมูลจริง ( ) รายงานนโยบายการเงินฉบับมกราคม 2556 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประมาณการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในระดับปัจจุบันยังมีความเหมาะสม โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมามีส่วนเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและเศรษฐกิจในประเทศมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยกรรมการ 1 ท่าน เห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายและเห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความเปราะบาง ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 คณะกรรมการฯ ประเมินว่าภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปยังมีความเหมาะสมแต่จะต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว จึงมีมติ 5 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยกรรมการ 1 ท่านเห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี และมีกรรมการ 1 ท่านไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
ข้อมูลเพิ่มเติม: บดินทร์ ศิวิลัย โทร. 0 2356 7876 E-mail: bodinc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย