Stat in Focus: Natural Hedge และการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) ของผู้ส่งออก-นำเข้าสินเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 26, 2013 14:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐยุโรป และญี่ปุ่น โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีส่วนที่ทำให้เกิดกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดเงินและตลาดทุนของเอเชียจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาครวมทั้งค่าเงินบาทของไทยโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ หรือแม้แต่บุคคลธรรมดาทั่วไปที่มีธุรกรรมกับต่างประเทศ มีรายรับ-รายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศซึ่งต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ไม่ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น หรืออ่อนค่าลงก็ตาม ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา ธปท. จึงชักชวนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจและทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือทางการเงินแบบต่างๆ ( Hedging instruments) อาทิ สัญญาซื้อ/ขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward contract) สัญญาอนุพันธ์อื่นๆ (FX option) และการบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (Natural Hedge)

การที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแบบธรรมชาติได้ หมายถึงผู้ประกอบการสามารถลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการสร้างสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ประกอบการมีรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศ (เช่น รายรับจากการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จากการรับการลงทุนจากต่างประเทศ หรือจากการกู้เงินจากต่างประเทศฯลฯ) ในมูลค่าที่ใกล้เคียงกับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (เช่น รายจ่ายจากการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ การไปลงทุนในต่างประเทศหรือจากการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศ) ดังนั้น แม้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและส่งผลให้รายรับในรูปเงินบาทลดลง แต่ก็จะถูกชดเชยด้วยรายจ่ายในรูปเงินบาทที่ลดลงเช่นกัน หรือในกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าซึ่งจะทำให้ต้องจ่ายในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่ก็จะได้รับการชดเชยจากรายรับในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเปรียบเสมือนเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนแบบธรรมชาติโดยมิต้องอาศัยเครื่องมือทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยง

เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติสามารถบรรเทาปัญหาผลกระทบของค่าเงินบาทของผู้ประกอบการได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นบทความนี้จึงต้องการนำเสนอภาวะ Natural Hedge ของผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าของไทยในปัจจุบัน ว่ามีระดับมากน้อยเพียงใด และนอกเหนือจากการเป็น Natural Hedge แล้ว ผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าของไทยมีการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นอีกหรือไม่ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ภาวะ Natural Hedge ของผู้ส่งออก — นำเข้าไทย

จากสถิติการส่งออก-นำเข้าสินค้าของกรมศุลกากรไทย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 พบว่ามีจำนวนผู้ทำการค้าระหว่างประเทศทั้งสิ้น 93,773 ราย โดยในจำ นวนนี้อยู่ในฐานะส่งออก37,668 รายและฐานะนำเข้า 74,646 ราย และเป็นทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าอยู่ในรายเดียวกันเป็นจำนวน 18,541 ราย ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ มีมูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของมูลค่าส่งออกและมูลค่านำเข้ารวมของทั้งประเทศ แต่หากนำมูลค่าส่งออกและมูลค่านำเข้าเป็นรายบริษัทมาเปรียบเทียบเพื่อคำนวณเป็น Natural hedge ratio*(1) พบว่ามีผู้ประกอบการเพียง 2,051 รายเท่านั้น ที่มี Natural hedge ratio ในเกณฑ์สูงตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของจำนวนผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทั้งหมด และมีสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่าส่งออกและนำเข้ารวม) และมีผู้ประกอบการถึง 86,848 ราย ที่มี Natural hedge ratio ต่ำกว่าร้อยละ 25 (คิดเป็นร้อยละ 92.6 ของจำนวนผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทั้งหมด และมีสัดส่วนร้อยละ 47.8 ของมูลค่าส่งออกและนำเข้ารวม)

สำหรับกลุ่มที่มี Natural hedge ratio ตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกนำเข้าที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์เคมีภัณฑ์และพลาสติก และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ) รองลงมาได้แก่ ธุรกิจค้าส่ง — ค้าปลีก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ร้อยละ 80 ของกลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีมูลค่าส่งออกและนำเข้ารวมกันเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 30 ล้านบาท

สำหรับผู้ส่งออกนำเข้ากลุ่มที่มี Natural hedge ratio ต่ำกว่าร้อยละ 25 ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ยานยนต์ โลหะ และเครื่องจักรตามลำดับ ตามด้วยธุรกิจค้าส่ง - ค้าปลีก ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีมูลค่าส่งออกและนำเข้ารวมกันเฉลี่ยเดือนละเกิน 30 ล้านบาท อยู่ไม่ถึงร้อยละ 3

เมื่อพิจารณาลักษณะอื่นๆ ของบริษัท อาทิ ทุนจดทะเบียน ประเภทธุรกิจ (จำแนกตาม ISIC) สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มูลค่าส่งออกและนำเข้า พบว่าตัวแปรเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบายระดับความเข้มข้นของ Natural hedge ratio ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างใน Bubble chart ซึ่งสะท้อนว่าระดับ Natural hedge ratio ต่างๆ กัน พบได้ในกลุ่มผู้ส่งออกทั้งขนาดกลาง — ขนาดใหญ่ ทั้งที่มีทุนจดทะเบียนสูง-กลาง-ต่ำ ไม่ปรากฏความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่าง 3 ตัวแปรนี้แต่อย่างใด

การทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับธนาคารพาณิชย์

จากการที่พบว่าขนาดของรายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ของบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นตัวช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากภาวะ Natural hedge มากนัก ดังที่เห็นได้จากค่า Natural hedge ratio ที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งในทางปฏิบัติหากผู้ส่งออกและ/หรือนำเข้าที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ สามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นเงินตราต่างประเทศโดยโอนเงินผ่านบัญชี FCD ของตนกับ FCD ของบริษัทคู่ค้าในประเทศได้ หรือในกรณีที่ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และกัมพูชา สามารถใช้เงินบาทได้ ก็เท่ากับว่าบริษัทได้ประโยชน์จากการเป็น Natural hedge บ้างเช่นกัน ดังนั้น จึงได้พยายามตอบประเด็นที่ว่าบริษัทที่ทำ การค้าขายระหว่างประเทศที่ไม่ได้ประโยชน์จาก Natural Hedge มีการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไรบ้าง บทความนี้จึงได้ศึกษาต่อถึงการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้เครื่องมือทางการเงินประเภทการซื้อ/ขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่ทำ ผ่านธนาคารพาณิชย์

(1) ในระหว่างปี 2551-2555 ภาพรวมยอดคงค้างการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงฯ ของผู้ส่งออกสูงกว่าผู้นำเข้ามาตลอด ยกเว้นช่วงครึ่งแรกของปี 255 2 ที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงฯ น้อยลง และมียอดคงค้างการป้องกันความเสี่ยงฯ ต่ำกว่าของผู้นำเข้า อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2554 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปในทางแข็งค่ามากกว่าช่วงก่อนหน้าผู้ส่งออกมียอดคงค้างการป้องกันความเสี่ยงฯ เพิ่มขึ้นล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 ยอดคงค้างการป้องกันความเสี่ยงฯ ของผู้ส่งออกอยู่ที่ 22.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับยอดคงค้างการป้องกันความเสี่ยงฯ 13.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ของผู้นำเข้า ทั้งนี้ หากเทียบยอดคงค้างการป้องกันความเสี่ยงฯ ทั้งด้านส่งออกและด้านนำเข้ากับมูลค่าการส่งออก/นำเข้า 6 เดือน*(2) พบว่ายอดคงค้างการทำธุรกรรมการป้องกันความเสี่ยงฯ ของผู้ส่งออกมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 22 ของมูลค่าส่งออก และยอดคงค้างการป้องกันความเสี่ยงฯ ของผู้นำ เข้ามีสัดส่วนร้อยละ 12 ของมูลค่าการนำเข้า 6 เดือน

(2) การป้องกันความเสี่ยงของผู้ส่งออกมีความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ของธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงฯ (Hedging ratio) 3 กับค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 0.73 (โดยใช้ข้อมูลรายเดือนในช่วงปี 2005 - 2012) ซึ่งถือว่าเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น ผู้ส่งออกจะป้องกันความเสี่ยงฯ มากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่การป้องกันความเสี่ยงฯ ของผู้นำเข้าไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยนเลย

สรุป

จากการศึกษาของบทความนี้พบว่า 1) ผู้ส่งออก-นำเข้าของไทยส่วนใหญ่มีภาวะ Natural hedge ในระดับที่ต่ำ 2) ผู้ส่งออก-นำเข้าไทยทำธุรกรรมการป้องกันความเสี่ยงฯ โดยการซื้อ/ขาย เงินตราต่างประเทศล่วงหน้าน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกและมูลค่านำเข้ารวมของทั้งประเทศ และ 3) ในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าและประเทศยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการส่งออกของไทยจึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือหากเงินบาทแข็งค่าขึ้น รายรับจากการส่งออกในรูปเงินบาทจะลดลง ดังนั้น การที่มี Natural hedge ไม่มากและผู้ส่งออกยังไม่นิยมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านเครื่องมือทางการเงิน ก็อาจก่อให้เกิดความเปราะบางของโครงสร้าง (vulnerable structure) การส่งออกและนำเข้าของไทยได้ (ในกรณีที่ทิศทางค่าเงินเปลี่ยนแปลง) โดยเฉพาะหากภาคการส่งออกและนำเข้ายังคงต้องพึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยนในการสร้างความได้เปรียบด้านราคา รายได้ และความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

*(1) Natural hedge ratio = Vx/Vm * 100 โดยสูตรนี้ใช้เมื่อ Vm > Vx (และใช้สูตร หรือ Vm/Vx * 100 เมื่อ Vx > Vm) โดยที่ Vx = มูลค่าส่งออก และ Vm = มูลค่านำเข้า Natural hedge ratio มีค่าระหว่าง 0% - 100% และถ้า Vx = Vm คือ Natural hedge ratio จะเท่ากับ 100% นั่นหมายความว่าผู้ทำการค้าระหว่างประเทศมีการคุ้มครองความเสี่ยงแบบธรรมชาติเต็ม 100% แต่ถ้ามูลค่าส่งออกหรือนำเข้าด้านใดด้านหนึ่งต่ำกว่ากัน ก็จะทำให้ Natural hedge ratio ลดหลั่นกันลงไป และหากเป็นผู้ส่งออกหรือนำเข้าเพียงด้านเดียว Natural hedge ratio จะเท่ากับ 0% ถือว่าไม่ได้ประโยชน์จากการป้องกันความเสี่ยงแบบธรรมชาติ

*(2) อายุของสัญญาป้องกันความเสี่ยงของผู้ส่งออกส่วนใหญ่อยู่ที่มากกว่า 3 เดือน ถึง 1 ปี แต่ผู้นำเข้าอยู่ที่ 3 เดือน ถึง 6 เดือน

*(3) เป็นสัดส่วนของมูลค่าธุรกรรมการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออก-นำเข้าที่ทำในแต่ละเดือน (Flow) ต่อยอดการส่งออก-นำเข้าในระยะ 3 เดือนข้างหน้า

มยุรี ชัยสิทธิ์ และอมรรัตน์ แสงสิทธิ์

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ