สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมีนาคม ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2013 14:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 8/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมีนาคม 2556 ขยายตัวจากการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีและการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น รวมทั้งแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคการก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาพืชผลเกษตรยางและปาล์มน้ำมันยังคงลดลงต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การท่องเที่ยวยังขยายตัวดี ถึงแม้ชะลอลงหลังจากผ่านช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนก่อนโดยขยายตัวร้อยละ 19.6 จากการส่งเสริมของภาครัฐและเอกชนในการจัดงานนานาชาติที่ภูเก็ต 2 งานและการเดินทางไป road show ที่อินโดนีเซียของภาครัฐ ประกอบกับเดือนนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนของมาเลเซีย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังคงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 118.3 ส่วนอัตราเข้าพักเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 69.1 สูงขึ้นจากร้อยละ 65.0 ของเดือนเดียวกันปีก่อน

สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางและปาล์มน้ำมัน ขณะที่รายได้เกษตรกรปรับลดลงร้อยละ 20.0 ตามราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงร้อยละ 22.4 เนื่องจากราคายางและปาล์มน้ำมันยังคงลดลงตามราคาตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากสต็อกโลกและไทยอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคากุ้งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.0 จากการที่ผลผลิตลดลงมากส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ตามวัตถุดิบและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะยางพารา ที่ตลาดจีนยังมีความต้องการต่อเนื่องสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถและเพิ่มปริมาณสต็อก ขณะที่อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งลดลงมาก เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งจากปัญหาโรคระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย

สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้การท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมที่ยังดี รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากหมวดค้าปลีก-ค้าส่งและหมวดโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.2 และ 12.7 ตามลำดับส่วนการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ชะลอลง ขณะเดียวกันการลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 8.3

ด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 17.0 ตามการลดลงของการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ซึ่งลดลงเกือบทุกจังหวัด และรายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 2.7 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรที่ลดลง เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้ทั้งเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลดลงจากการเพิ่มค่าลดหย่อนของบุคคลธรรมดามากขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาษีที่เก็บจากธุรกิจรับซื้อขายยางพาราลดลง ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23

ส่วนเงินฝากชะลอต่อเนื่อง เนื่องจากมีการนำเงินฝากไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ทำให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เงินให้สินเชื่อยังคงขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเร่งตัวสูงจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.76 ชะลอลงจากร้อยละ 3.25 ในเดือนก่อนและต่ำสุดในรอบ 29 เดือน เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารชะลอลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.32 ชะลอลงเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย ส้านักงานภาคใต้

โทร. 07427 2000 ต่อ 4716 E-mail: Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ