ฉบับที่ 10/2556
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการสัมมนาระดับนานาชาติในหัวข้อ “From CLMVT to AEC: Current Situation and Future Prospects” เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติกล่าวต้อนรับนายพิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และนางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวเปิดการสัมมนา
การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMVT ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการที่จะปรับตัวเข้าหากันให้ได้อย่างราบรื่น เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อการพัฒนาในภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว
ในช่วงเช้าเริ่มต้นด้วย การแสดงปาฐกถาพิเศษโดยท่านเซี่ย ฝูเกิน กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดขอนแก่น ในหัวข้อ “มุมมองต่อภาคอีสานและบทบาทของจังหวัดขอนแก่นในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอินโดจีน” โดยมองว่าภาคอีสานมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศ CLMV มีโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย สะพานมิตรภาพ ทำให้สามารถเชื่อมโยงกับ CLMV- อาเชียน และเป็นประตูสำคัญที่เชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทเด่นในด้านการค้าสินค้าเกษตรกับจีน รวมทั้งมีพื้นที่ที่เหมาะสำหรับผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนต่าง ๆ
ต่อด้วยการนำเสนอข้อมูล และมุมมองของวิทยากรจากประเทศ CLMV เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง โดยมีนักวิชาการที่มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดีในแต่ละประเทศได้แก่ รศ. ดร. พูดเพ็ด แก้วพิลาวง ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการธุรกิจมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ศาสตราจารย์ ดร. ตรัน ดิ่น ลาม ศูนย์ศึกษาเวียดนามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ดร. ทัน วัฒนา ผู้อำนวยการ Loka Organization ประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา และศาสตราจารย์ ดร. เต็ง ส่วย ที่ปรึกษาด้านประชาสังคมในเมียนมาร์ ธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
- ศาสตราจารย์ ดร. ตรัน ดิ่น ลาม เห็นว่า ปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ได้แก่ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ที่มีผลทำให้ GDP ของประเทศในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
- ในขณะที่ รศ. ดร. พูดเพ็ด แก้วพิลาวง มองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของลาวเติบโตได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการพัฒนาศักยภาพของสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้ ควรมีแนวทางการปฏิบัติสำคัญ 6 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ การจัดการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเติบโตของการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ การพัฒนาทุนมนุษย์ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาภาคการเงิน การปรับปรุงระบบกฎหมาย และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของประเทศ
- สำหรับ ดร. ทัน วัฒนา วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่มีผลให้เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาเจริญเติบโตถึงร้อยละ 7.2 ในปี 2012 ประกอบด้วย การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้ ปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชาให้เติบโตในระยะต่อไป ได้แก่ กลยุทธ์การลงทุนของภาคเอกชน และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในปี ค.ศ. 2015
- ในส่วนของ ศาสตราจารย์ ดร. เต็ง ส่วย ได้สะท้อนภาพว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการปฏิรูปการเมือง ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลได้มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญในอนาคต ได้แก่ ด้านการสร้างงานการศึกษา การสาธารณสุข ถนนหนทาง การไฟฟ้า และการประปา รวมถึงได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญอย่างน่าสนใจว่า ในอนาคตรัฐบาลเมียนมาร์จะให้ความสำคัญกับการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญแทนการมุ่งส่งออกเช่นในปัจจุบัน
สำหรับภาคบ่าย ศาสตราจารย์ ดร. อิเคโมโตะ ยูกิโอะจากสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยโตเกียวได้ให้มุมมองว่าการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นหลัก โดยไม่ได้มีความพยายามในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนทางด้านการเมืองและความมั่นคง หรือ APSC ตลอดจนทางด้านสังคมและวัฒนธรรม หรือ ASCC จะไม่สามารถช่วยให้ความเป็นอาเซียนมีความเข้มแข็งได้ ดังนั้น การนำเอาอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ ตลอดจนความพยายามที่จะลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเป็นอาเซียนเดียวตาม “Roadmap for an ASEAN Community 2009 — 2015” ที่ได้วางแผนไว้
ต่อด้วยการนำเสนอแง่คิด มุมมอง และประสบการณ์ของนักลงทุนไทยที่ได้ไปประกอบธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้รับเกียรติจากนายวุฒิ มณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม จำกัด และนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหารบริษัท ที.เค.การ์เมนท์ จำกัด รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา โดยเฉพาะประเด็นความแตกต่างระหว่างค่าแรงขั้นต่ำและการย้ายแหล่งการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น ซึ่งอาจเป็นความท้าทายสำหรับนักลงทุนไทยในอนาคต
นอกจากนี้ คณะวิทยากรยังได้กล่าวถึงประเด็นของต้นทุนด้านอื่นๆ ที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของภาครัฐที่แตกต่างกัน ตลาดของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงต้นทุนในการขนส่งสินค้าและต้นทุนแฝงอื่น ๆ ที่อาจตามมา โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตนก่อนเข้าไปทำการลงทุน
และในช่วงท้ายของการเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้สอบถาม และนำเสนอมุมมองต่าง ๆ ในประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านร่วมกับวิทยากรทั้งสองท่านในหลายแง่มุมโดยมี ผศ.ดร.สถาพร เริงธรรม จากสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดงาน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410 E-mail: Benjamak@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย