บทความ: สิ้นยุคทองราคายาง?: สาเหตุ ผลกระทบ และทางออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 26, 2013 13:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สิ้นยุคทองราคายาง ? : สาเหตุ ผลกระทบ และทางออก ถนัด ตันสกุล

มิถุนายน 2556

หลังจากที่ราคายางได้สร้างความตื่นเต้น ยินดีให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยราคายางได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 จนกระทั่งขึ้นไปสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ราคากิโลกรัมละ 174.44 บาท แต่หลังจากนั้นราคายางได้ลดลงอย่างรวดเร็วจากหลายปจจัย อาทิปญหาเศรษฐกิจของ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุน และปญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ส่งผลให้ราคายางลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 89.70 บาทในเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งสร้างความหวาดวิตกให้กับเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคายางดูเหมือนจะลดต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วงต้นปี 2555 จึงมีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศว่าจะพยุงราคายางให้ได้กิโลกรัมละ 120 บาท แต่มาตรการก็ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการแทรกแซงราคายางในเดือนมีนาคม 2556 ราคายางยังคงทรงตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 78.84 บาท และล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2556 ราคายางขยับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 82.88 บาท

เมื่อมองไปข้างหน้า ยางมีอนาคตที่ไม่สดใสนักคาดว่าในปี 2556 ราคายางจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ กิโลกรัมละ 75.00 - 85.00 บาท เท่านั้น ปัจจัยที่มีผลกดดันให้ราคายางไม่สดใสเหมือนกับปี 2554 มีดังนี้

ด้านการผลิต และสต็อก

1. ผลผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการขยายพื้นที่ปลูกในช่วงที่ยางราคาดี ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยเองหรือประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้หลายประเทศในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ เช่น ไนจีเรีย ไลบีเรีย แคเมอรูน บราซิลและกัวเตมาลา ต่างก็หันมาปลูกยางด้วยเช่นกัน

2. ต้นทุนการผลิตยางของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยในปี 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประกาศต้นทุนการผลิตยางไว้ที่กิโลกรัมละ 61.65 บาท ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ในทุกจังหวัดในปี 2556 ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตยางเพิ่มสูงขึ้นอีก ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตยางที่เป็นคู่แข่งสำคัญคือ อินโดนีเซีย ผู้ผลิตยางอันดับ 2 ของโลกรองจากไทย มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเนื่องจากปลูกตามธรรมชาติไม่ใช้ปุยเคมี เคมีภัณฑ์ทางการเกษตร และมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าไทยมาก คือมีค่าแรงขั้นต่ำเพียงวันละ 155 บาทเท่านั้น

3. สต็อกยางโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ International Rubber Study Group สต็อกยาง ณ สิ้นปี 2554 มีจำนวน 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านตันในปี 2555 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านตัน และ 2.5 ล้านตัน ในปี 2556 และปี 2557 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าผลผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลกดดันราคายางไม่ให้สูงขึ้นได้

ด้านการตลาด

1. จีน ถึงแม้จะยังนำเข้ายางเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตยางล้อชั้นนำของโลกใช้จีนเป็นฐานในการผลิตยางล้อ จีนเป็นตลาดส่งออกยางที่สำคัญเป็นอันดับ1 ของไทย ในปี 2555 มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 49.3 ของมูลค่าการส่งออกยางทั้งหมด แต่เศรษฐกิจจีนในปี 2556 มีแนวโน้มชะลอตัวลง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP's Growth) ของจีน ในไตรมาสแรกของ ปี 2556 เติบโตเพียง ร้อยละ 7.7 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 8.1 และต่ำกว่าไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ด้านตลาดส่งออกที่สำคัญของจีนคือ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังประสบปญหาวิกฤตทางการเงิน ทำให้การส่งออกยางล้อของจีนไปทั้ง 2 ตลาดมีแนวโน้มลดลง โรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ในจีนต้องลดกำลังการผลิตลงถึงร้อยละ 50 และโรงงานขนาดเล็กจำนวนมากต้องปิดกิจการลง ดังนั้นการนำเข้ายางของจีนจึงอาจจะชะลอตัวลงได้

2. ญี่ปุน สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางของไทยที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 , 4 และ 6 ตามลำดับ โดยในปี 2555 มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 8.0 , 5.2 และ 5.1 ตามลำดับ วิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการบริโภคยางเช่นกัน จะเห็นได้จากปริมาณการส่งออกยางไปยังทั้ง 3 ตลาด ในปี 2555 ลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 15.6 , 21.3 และ 14.3 ตามลำดับ ดังนั้นการนำเข้ายางของทั้งญี่ปุน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาจึงมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน

ด้านราคา

1. ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนมาก แม้ว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 90 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาเรล แต่สินค้าโภคภัณฑ์อื่น เช่น ทองคำ มีราคาผันผวนมากและมีแนวโน้มลดต่ำลงจากข่าวธนาคารกลางของประเทศที่ประสบวิกฤตทางการเงินจะเทขายทองคำเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ยางซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ตัวหนึ่งจึงมีราคาผันผวนตามไปด้วยเช่นกัน

2. ไทยไม่สามารถกำหนดราคายางได้ แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2555 มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 33.7 ของปริมาณการส่งออกยางโลก เนื่องจากมีประเทศผู้ผลิตยางหลายประเทศ ทำให้ปริมาณยางในตลาดโลกมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน ในขณะที่ผู้ซื้อรายใหญ่ๆ คือ บริษัทผลิตยางล้อรถชั้นนำ ซึ่งมีเพียงไม่กี่บริษัท จึงมีอำนาจการต่อรองที่สูงกว่า

นอกจากนี้ยางมีสินค้าทดแทนที่สำคัญ คือ ยางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการกลั่นน้ำมัน ซึ่งหากยางมีราคาสูงเกินไป ผู้ซื้อก็จะหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทน

จากการที่ราคายางลดลงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 ถัวเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ปี 2555 อยู่ที่กิโลกรัมละ 93.82 บาท ในขณะที่ราคาถัวเฉลี่ย ปี 2554 อยู่ที่กิโลกรัมละ 132.43 บาท ลดลงไปถึงกิโลกรัมละ 38.61 บาท ปริมาณการส่งออกยาง ปี 2555 อยู่ที่ 3,648 พันตัน นั่นหมายถึงเม็ดเงินในมือเกษตรกร และความมั่งคั่งของไทยหายไปประมาณ 141,000 ล้านบาท หรือทุกๆ 1 บาทของราคายางที่ลดลง หมายถึงรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง และความมั่งคั่งของไทยก็จะหายไป 3,648 ล้านบาทด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นรายได้จากการส่งออกที่เป็นเงินตราต่างประเทศอีกด้วย

ดังนั้น การผลิตยางเพื่อส่งออกในรูปของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ อาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมอีกต่อไปในอนาคต เพราะโอกาสที่ราคายางจะสูงเหมือนปี 2554 คงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ปรับลดGDP's Growth ของโลกในปีนี้และปีหน้าจากเดิมร้อยละ 3.5 และ 4.1 ตามลำดับ ลงเหลือเพียงร้อยละ 3.3 ในปีนี้ และร้อยละ 4.0 ในปีหน้า จึงควรหันมาผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะได้ราคาที่ดีกว่า โดยจะเห็นได้ว่าในปี 2555 ไทยส่งออกยางในรูปวัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้นในกลุ่มอุตสาหกรรมช่วงกลางน้ำสูงถึงร้อยละ 87 ของผลผลิตยางทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 336,303.8 ล้านบาท ในขณะที่มีการนำไปใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมปลายน้ำเพียงร้อยละ 13 แต่คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 182,130.1 ล้านบาท ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการแก้ปญหาราคายางอย่างยั่งยืนและตรงจุด ควรส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแปรรูปยางเป็นสินค้า End product ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการส่งออกในรูปวัตถุดิบถึงประมาณ 4 เท่าตัว จะเป็นวิธีที่ดีในการแก้ปญหาระยะยาว และยังช่วยลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ