แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 17:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม 2556 ชะลอลงตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น ประกอบกับแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐทยอยหมดลงขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบาง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตาม อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อชะลอลงดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและดุลการชำระเงินเกินดุลเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของโครงการรถยนต์คันแรกที่ได้ทยอยส่งมอบแล้วเป็นส่วนใหญ่ และการระมัดระวังการใช้จ่ายของครัวเรือน

การส่งออกสินค้าลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบาง ประกอบกับปัญหาด้านอุปทานจากการขาดแคลนกุ้งเนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด รวมถึงปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งส่งออกหลังจากผลกระทบของมหาอุทกภัยคลี่คลายลงส่งผลให้การส่งออกมีมูลค่า 19,494 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 5.1 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรมโดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.9 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.2 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และรัสเซีย

การส่งออกสินค้าที่ลดลงและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัว ทำ ให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวและผู้ประกอบการบางส่วนชะลอการลงทุนออกไป โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 7.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ กุ้งแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นอกจากนี้ การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง โดยเฉพาะจากการนำเข้าของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนที่ผู้ประกอบการเร่งลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากมหาอุทกภัยส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งลงทุนไปมากในช่วงก่อนหน้า

การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าที่ลดลงโดยมีมูลค่า 18,959 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 4.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน

สำหรับรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 2 จากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งปริมาณและราคา โดยปริมาณขยายตัวร้อยละ 0.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน ส่วนราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคามันสำปะหลังที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น ราคาปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และราคากุ้งจากผลผลิตลดลงจากปัญหาโรคระบาด

ภาครัฐ รายจ่ายรัฐบาลชะลอลงหลังจากที่มีการเร่งโอนเงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนนอกงบประมาณในช่วงก่อนหน้า ส่วนรายได้ขยายตัวจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีสรรพสามิตจากภาษีสุรา ยาสูบ และเบียร์จากการผลิตที่มากขึ้น รายได้ที่มากกว่ารายจ่ายทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 48.3 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.27 ตามการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลไปต่างประเทศ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลเล็กน้อยจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ส่วนดุลการชำระเงินเกินดุลเล็กน้อย

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ