ฉบับที่ 7/2556
ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2556 โดยรวมชะลอตัว ตามการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน หลังจากเร่งตัวสูงในช่วงก่อนหน้า ด้านการส่งออกขยายตัวจากการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีจากการจัดประชุมสัมมนานานาชาติที่เชียงใหม่ ส่วนรายได้เกษตรกรลดลงจากผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ ประกอบกับการผลิตเครื่องดื่มลดลง ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้หดตัว สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวชั่วคราวหลังจากเร่งเบิกจ่ายไปมากช่วงก่อนหน้า ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อย เงินฝากชะลอลง ส่วนสินเชื่อขยายตัวสูงมาก
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้
ภาคอุปทานยังหดตัว โดยผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 8.6 ต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้า ด้วยสภาพอากาศและปริมาณน้ำไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้ผลผลิตพืชสำคัญหดตัว เช่น ข้าวนาปรัง สับปะรดโรงงาน และลิ้นจี่ นอกจากนี้ ผลจากสภาพอากาศร้อนทำให้ผลผลิตปศุสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลงเล็กน้อยตามราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ส่วนหนึ่งผลจากปริมาณการส่งออกลดลง ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 8.6 ทางด้านการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยังหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 8.0 เนื่องจากการผลิตข้าวสารลดลงตามผลผลิตข้าวเปลือก การผลิตเครื่องดื่มลดลงหลังจากเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปได้รับผลกระทบจากลูกค้าต่างประเทศหันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งที่มีราคาต่ำกว่า การผลิตอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพคอมแพคและส่วนประกอบฮาร์ดดิสไดร์ฟหดตัวเนื่องจากความนิยมใช้ลดลง สำหรับการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีโดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือตอนบนเนื่องจากมีการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนานานาชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งการเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีน
ภาคอุปสงค์ชะลอตัวลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 3.7 ตามการจำหน่ายสินค้าส่งและปลีก โดยเฉพาะการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงมาก สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพปรับสูงขึ้นและรายได้เกษตรกรลดลง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวเช่นกัน โดยขยายตัวร้อยละ 3.6 ตามพื้นที่อนุญาตรับก่อสร้างในเขตเทศบาล ค่าธรรมเนียมขายและขายฝากที่ดินหดตัว หลังจากเร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้าก่อนการประกาศใช้ผังเมืองรวมของจังหวัดเชียงใหม่ในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ความสนใจลงทุนในภาคเหนือยังมีต่อเนื่อง สะท้อนจากโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในเดือนนี้มีจำนวน 7 โครงการ มูลค่า 1,005.0 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพื่อผลิตสินค้าหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร การเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัดเดือนพฤษภาคม 2556 มีจำนวน 14,018.2 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 12.4 หลังจากได้เร่งเบิกจ่ายมากในช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าเป็นการหดตัวเพียงชั่วคราว ทั้งนี้ การเบิกจ่ายสะสมในช่วง 8 เดือน ของปีงบประมาณ 2556 ยังขยายตัวร้อยละ 9.6
การส่งออกมีมูลค่า 417.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.4 ตามการส่งออกสินค้าผ่านด่านชายแดน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 121.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 4.3 จากการลดลงของวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพชรยังไม่เจียระไน และแผ่นแก้วสำหรับทำเลนส์ สำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านด่านชายแดนยังขยายตัว
ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.32 ตามราคาเนื้อสัตว์ ไข่ ผัก/ผลไม้ และน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเดือนพฤษภาคม 2556 ยังขยายตัวดี
ภาคการเงินขยายตัว โดยเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 มีจำนวน 562,461 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือร้อยละ 15.0 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินฝากของหน่วยงานราชการ ทางด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 518,230 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.6 ส่วนหนึ่งเนื่องจากธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้ปรับเปลี่ยนการบันทึกบัญชีจากสำนักงานใหญ่มาที่สาขาในภาคเหนือ ทั้งนี้ หากไม่รวมส่วนนี้ สินเชื่อยังขยายตัวร้อยละ 20.3 จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ค้าปลีกค้าส่ง ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ธุรกิจการเกษตร รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สานักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ
โทร. 0 5393 1162
e-mail : Thaveesc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย