การค้าไทย-มาเลเซียปรับตัวมากน้อยแค่ไหนเมื่อเผชิญกับความผันผวนของค่าเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 10:56 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

โสมสิริ หมัดอะดั้ม

มิถุนายน 2556

มาเลเซียมีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยมีความสำคัญเป็นอันดับ 4 รองจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และหากเปรียบเทียบมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พบว่า มาเลเซียเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย โดยในช่วงปี 2551 — 2555 ไทยและมาเลเซียมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยต่อปีเกือบ 700 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปมาเลเซีย คือ น้ำมันสำเร็จรูป ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ ยางพารา โดยเฉพาะน้ำยางข้น ซึ่งมาเลเซียนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ คือ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ น้ำมันดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์

ตาราง 1 มูลค่าการค้าไทย - มาเลเซีย

(พันล้านบาท)

                2551    2552    2553    2554   2555
การค้ารวม       648.3   556.1   678.5   749.8  793.3
ส่งออก          325.3   260.8    34.6   373.6  383.7
นำเข้า          323.0   295.3   343.9   376.2  409.6
ที่มา: กรมศุลกากร

แม้ไทยกับมาเลเซียจะมีความสำคัญทางการค้าต่อกันมาก แต่สกุลเงินที่ระบุในการซื้อขายสินค้า ส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 87 ของมูลค่าการค้ารวม (ระหว่างปี 2547 — 2555) เนื่องจากเงินสกุลนี้เป็นสกุลเงินหลักที่ถูกใช้ในทางการค้าอย่างกว้างขวาง มีความคล่องตัวสูง และคู่ค้าส่วนใหญ่มีธุรกรรมทางการค้าทั่วโลก ฉะนั้น การกำหนดให้ชำระค่าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์ สรอ. จะทำให้คู่ค้าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงโดยการสร้างสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่ายให้เป็นเงินสกุลต่างประเทศสกุลเดียวกันได้ หรือที่เรียกกันว่า “Natural Hedge” ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้บางส่วน นอกเหนือจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงสกุลเงินหลักเพียงสกุลเดียว ทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงเกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่เงินสกุลท้องถิ่นของทั้ง 2 ประเทศทั้งเงินสกุลบาทและริงกิต ถูกใช้ในการซื้อขายสินค้าระหว่างกันน้อย โดยในช่วงระหว่างปี 2547 — 2555 มีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้ารวมเท่านั้น โดยการใช้เงินสกุลริงกิตปรับลดลงมากตั้งแต่มาเลเซียมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการปริวรรตเงินตราเมื่อปี 2541 เป็นต้นมา และธนาคารพาณิชย์ไทยลดการทำธุรกรรมที่อ้างอิงเงินสกุลริงกิต จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้การตกลงระหว่างคู่ค้ามีการใช้เงินสกุลบาทในสัดส่วนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกของปีนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของการระบุสกุลเงินในการซื้อขายสินค้าที่ชัดเจนขึ้น การใช้เงินสกุลดอลลาร์ สรอ. ปรับลดลงเหลือสัดส่วนเพียงร้อยละ 85 และใช้เงินสกุลท้องถิ่นสูงขึ้นเป็นร้อยละ 11.5 โดยเป็นเงินสกุลบาทร้อยละ 9.3 และเงินสกุลริงกิตร้อยละ 2.2

สำหรับเงินสกุลบาทถูกใช้มากขึ้นจากสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 5.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 9.3 ในไตรมาสแรกของปี 2556 ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากความผันผวนของค่าเงินบาท ที่ค่อนข้างมีการเคลื่อนไหวผันผวนอย่างรุนแรง หากมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ เช่น มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมาก เกิดการคาดการณ์และการเก็งกำไรในค่าเงิน เป็นต้น

ส่วนสัดส่วนการใช้เงินสกุลริงกิต ปรับลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 2.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนและปริวรรตเงินตราของมาเลเซียที่ประกาศใช้เมื่อปี 2541 ซึ่งถึงแม้จะมีการผ่อนคลายแล้วแต่ตลาดยังไม่มีความเชื่อมั่นในเงินสกุลนี้มากนัก

การเปลี่ยนแปลงสกุลเงินทางการค้ามาใช้เป็นเงินสกุลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อิงกับสกุลเงินหลัก นอกเหนือจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุน และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น สอดคล้องกับความพยายามของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนเงินตราโดยตรงกันมากขึ้น โดยการพัฒนาศักยภาพของระบบการเงิน เพื่อรองรับการชาระเงินระหว่างกันด้วยเงินสกุลภูมิภาคที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น ในอนาคตไทยและมาเลเซียน่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินน้อยลง

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ