ฉบับที่ 34/2556
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและ การประเมินภาวะเศรษฐกิจของ กนง. สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดและ อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมจากเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักยังไม่สามารถชดเชยผลลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ในระยะสั้นตลาดการเงินโลกอาจมีความผันผวนจากการคาดการณ์การปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้มีกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่
สำหรับเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการส่งออกฟื้นตัวได้ล่าช้าจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ที่ชะลอลงแล้ว แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมเช่นกัน การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าประมาณการครั้งก่อน เพราะผลบวกจากมาตรการรถคันแรกหมดลงเร็วกว่าคาด ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มเป็นข้อจำกัดต่อการบริโภคสินค้าคงทนและ กึ่งคงทน อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดีและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายจะสนับสนุนให้ การบริโภคกลับมาเติบโตได้ตามปกติในระยะต่อไป การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงโดยเฉพาะในปี 2556 ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาคธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินในช่วงที่อุปสงค์ต่างประเทศยังอ่อนแอและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว จึงเลื่อนการลงทุนบางส่วนออกไปก่อน แต่โดยรวมแล้วธุรกิจยังมีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ไม่มีข้อจำกัดจากด้านฐานะการเงิน สำหรับแรงกระตุ้นจากภาคการคลังปรับลดลงเช่นกัน ตามการเบิกจ่ายเม็ดเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต่ำกว่าคาดและการใช้จ่ายในโครงการบริหารจัดการน้ำที่ล่าช้าออกไป
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ โดยแรงกดดันทั้งด้านอุปสงค์และด้านต้นทุนลดลงจากที่เคยประเมินไว้ ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงจากครั้งก่อน ประกอบกับทางการได้เลื่อนการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ออกไปอีก 2 เดือน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังคงข้อสมมติการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไว้ตลอดช่วงประมาณการ
จากการประเมินภาพเศรษฐกิจข้างต้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ โดยที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยโน้มไปทางด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางและการใช้จ่ายในโครงการบริหารจัดการน้ำที่อาจล่าช้ายิ่งขึ้นแผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการเศรษฐกิจจึงปรับจากสมดุลในครั้งก่อนเป็นเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงในปี 2556 และ 2557 ตามแรงกดดันจากทั้งด้านอุปสงค์และต้นทุนที่ลดลงโดยที่ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อโน้มไปทางด้านต่ำเล็กน้อยจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่อาจขยายตัวต่ากว่าในกรณีฐานแผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการอัตราเงินเฟ้อจึงเบ้ลงเล็กน้อย
ร้อยละต่อปี 2555 2556 2557 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.5 4.2 5.0
(5.1) (5.0)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.0 2.3 2.6
(2.7) (2.7)
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.1 1.1 1.4
(1.6) (1.7) หมายเหตุ: * ข้อมูลจริง
( ) รายงานนโยบายการเงินฉบับเมษายน 2556
ที่มา: ส่านักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์และประมาณการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนยังมีความเหมาะสม โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 28 และ 29 พฤษภาคม 2556 คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดจากเศรษฐกิจจีนและเอเชียเป็นสำคัญ ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังขยายตัวได้จากปัจจัยพื้นฐานที่ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากแรงส่งของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ที่ต่ำกว่าคาดมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินยังมีอยู่ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปีจากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 9 และ 10 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นการพักฐานหลังจากที่เร่งตัวมากจากผลของมาตรการภาครัฐ จึงคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังดีอยู่และนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลาย ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกอยู่ในช่วงปรับตัวและยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินต่อไป คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญอีกหลายประการ เช่น ระบบโลจิสติกส์ การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงปัญหาด้านแรงงานซึ่งถือเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งจากกำลังแรงงานของประเทศที่ไม่เพียงพอและผลิตภาพแรงงานที่ขยายตัวได้ต่ำคณะกรรมการฯ เห็นว่าข้อจำกัดเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องให้ความสำคัญกับการลดข้อจำกัดในภาคการผลิตควบคู่ไปกับการสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม: บดินทร์ ศิวิลัย
โทร. 0 2356 7876 E-mail: bodinc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย