สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมิถุนายน ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 2, 2013 15:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2556

เศรษฐกิจภาคใต้เดือนมิถุนายน ปี 2556 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลง เพราะรายได้ภาคเกษตรและแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง ทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนชะลอลง ส่วนการลงทุนลดลงสอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง ขณะเดียวกันการส่งออกลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแรง รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณและรายได้ภาครัฐลดลง อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังมีการเติบโตที่ดี

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.1 ชะลอจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่ดัชนีหดตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 17 เดือน และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดค้าปลีก-ค้าส่งชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้จากภาคเกษตรและรายได้จากการส่งออกลดลง ประกอบกับผลบวกจากมาตรการรถคันแรกลดลง เนื่องจากได้ทยอยส่งมอบแล้วเป็นส่วนใหญ่

ดัชนีผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ชะลอจากร้อยละ 4.5 ในเดือนก่อน จากผลผลิตกุ้งขาวที่หดตัวต่อเนื่องถึงร้อยละ 58.9 เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดยังไม่คลี่คลายและเกษตรกรชะลอการเลี้ยง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.4 จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและข่าวการลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับสต็อกทั้งยางและน้ำมันปาล์มยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 5.6

จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัว รวมทั้งผลจากด้านราคาสินค้าเกษตรที่หดตัว และการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำถุงมือยาง และยาง เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการผลิตที่ปรับลดลงด้วย ขณะที่การส่งออกอาหารบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้น หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน เนื่องจากผู้ซื้อรอจังหวะที่วัตถุดิบปลาทูน่าปรับราคาลง และการส่งออกไม้ยางพาราเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของตลาดจีนที่ยังขยายตัว

การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.0 ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง และภาคการก่อสร้างที่ชะลอลง โดยเฉพาะการขออนุญาตพื้นที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และบริการเดือนนี้ลดลงมาก ส่งผลให้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง

นอกจากนี้แรงกระตุ้นจากภาคการคลังลดลง โดยการเบิกจ่ายเงินงบประมาณลดลงร้อยละ 8.4 ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 4.9 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะภาษีที่จัดเก็บจากสรรพากร เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23

ผลจากรายได้ภาคครัวเรือนลดลง ในขณะที่มีภาระเพิ่มขึ้นจากการผ่อนชำระหนี้โครงการรถยนต์คันแรก ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อชะลอตัว

ด้านการท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 28.5 ถึงแม้จะอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว เนื่องจากแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ประกอบกับวิกฤตหมอกควันในอินโดนีเซียที่แผ่คลุมถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งหันมาเที่ยวภาคใต้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ส่งผลให้อัตราเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 54.9 เพิ่มจากร้อยละ 52.5 ของเดือนเดียวกันปีก่อน

ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.36 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.07 ในเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลผลิตกุ้งลดลงจากปัญหาโรคระบาด รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเดือนเดียวกันปีก่อนฐานต่าจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.04 เพิ่มจากร้อยละ 0.95 ในเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ