สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 2, 2013 15:11 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 14/2556

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศชะลอลง โดยเฉพาะจีน สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชนชะลอลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากร้อยละ 5.2 ของไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และหมวดภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ชะลอลง โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีในหมวดค้าปลีก-ค้าส่ง ลดลงมาก เป็นผลจากมาตรการรถยนต์คันแรกหมดลง และครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้จากสินค้าเกษตรและการส่งออกลดลง

รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 12.0 จากผลด้านราคาเป็นสำคัญ เนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสต็อกที่อยู่ในระดับสูงจากผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ออกสู่ตลาดในปริมาณมาก โดยปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 กดดันให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 16.2 แม้ว่าผลผลิตกุ้งขาวจะลดลงต่อเนื่องถึงร้อยละ 53.6 จากปัญหาโรคระบาด ส่งผลให้ราคาเร่งตัวขึ้นร้อยละ 68.3 ก็ตาม

ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.3 ตามการส่งออกสัตว์น้ำที่ลดลง จากการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวเนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด และการส่งออกถุงมือยางลดลงตามความต้องการในตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนการส่งออกยางลดลงเป็นผลจากด้านราคา แม้ว่าด้านปริมาณยังขยายตัวสูง เนื่องจากจีนนำเข้าเพิ่มขึ้นก็ตาม ขณะที่การส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋องชะลอลง เนื่องจากตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอการซื้อ ประกอบกับตลาดบางส่วนชะลอการซื้อในช่วงวัตถุดิบทูน่ามีราคาสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน สำหรับมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากการนำเข้าสัตว์น้ำและน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง เป็นสำคัญ

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง โดยดัชนีการผลิตขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอจากร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งการผลิตถุงมือยาง หดตัวร้อยละ 35.8 และ 7.6 ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพารา ยาง อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ ตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าโรงงานมาก

จากการชะลอตัวของของการบริโภค การส่งออก และการผลิต ส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยดัชนีการลงทุนหดตัวร้อยละ 0.4 ตามพื้นที่ก่อสร้างซึ่งลดลงร้อยละ 1.3 หลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงที่ผ่านมาสอดคล้องกับยอดการจำหน่ายปูนซิเมนต์ที่ชะลอลง ขณะเดียวกันการลงทุนในรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 14.2 หลังจากที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 2 ไตรมาส และมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ชะลอลง

อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวยังคงขยายในอัตราเร่งที่ร้อยละ 26.5 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน และรัสเซีย เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบินและขยายเส้นทางบินจากต่างประเทศมาภาคใต้เพิ่มขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้มีจำนวน 1,587,551 คน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 59.2 สูงกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 55.6

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณขยายตัวร้อยละ 8.6 ทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 1.2 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรที่ลดลงจากการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23

เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 6.3 และ 21.5 ตามลำดับ ชะลอจากไตรมาสก่อนส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรลดลงจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการผ่อนชำระหนี้ในโครงการรถยนต์คันแรก รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการพิจารณาการให้สินเชื่อมากขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.22 ชะลอจากร้อยละ 3.05 ในไตรมาสก่อน จากราคาอาหารสดในหมวดผักและผลไม้ที่ชะลอลง เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมาก ขณะที่เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ สัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและสภาพอากาศร้อนทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25 ชะลอลงจากร้อยละ 6.87 ในไตรมาสก่อนตามราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ทางด้านการจ้างงานชะลอลง สะท้อนจากจำนวนผู้เข้าระบบประกันตนในระบบประกันสังคมชะลอจากไตรมาสก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ