ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงดีเซลทางเลือกโดยมีคุณสมบัติการเผาไหม้เหมือนกับดีเซลจากปิโตรเลียม*(1) มาก และสามารถใช้ทดแทนกันได้ คุณสมบัติสำคัญของไบโอดีเซลคือ สามารถย่อยสลายได้เองตามกระบวนการชีวภาพในธรรมชาติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มพืชให้น้ำมันที่นิยมนำมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในตลาดโลกมี 4 ชนิดหลัก ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง เมล็ดเรพ และทานตะวัน ซึ่งปาล์มน้ำมันได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อตันต่อไร่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น โดยในปีที่ให้ผลผลิตสูง ปาล์มน้ำมันสามารถให้ผลผลิตเป็นทะลายปาล์มสดถึง 3,500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ในทะลายปาล์มสดที่เก็บเกี่ยวมา จะมีน้ำมันประมาณร้อยละ 20 ดังนั้นหากพิจารณาการปลูกปาล์มในพื้นที่ 1 ไร่ จะมีการให้น้ำมันประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
ปัจจุบัน ความต้องการใช้ไบโอดีเซลของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายประเทศเริ่มสนับสนุนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันและเพื่อเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะประเทศหลักอย่างกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐอเมริกา และคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในระยะ 10 ปีข้างหน้าจากการขยายตัวด้านคมนาคมขนส่งและจากสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างอินเดียกับจีน ในขณะที่ผู้ผลิตและส่งออกไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันนั้น ตลาดหลักมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งทั้งสองประเทศนี สามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้เกินร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตโลก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชีย
จากแนวโน้มการใช้ไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้นจึงมีการพัฒนาการเพิ่มศักยภาพการผลิตไบโอดีเซลด้านวัตถุดิบ โดยปัจจัยหลักจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน (Oil palm harvested area) ผลผลิตต่อไร่(Yield) และผลิตภาพ (Productivity) หากพิจารณาเปรียบเทียบไทยกับประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ พบว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทยอยู่มาก ส่วนในด้านผลผลิตต่อไร่และอัตราการให้น้ำมัน ไทยก็ยังต่ำกว่าผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสองอยู่เช่นกัน ซึ่งถ้าเทียบไทยกับผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสอง ถือว่าผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสองมีศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมันที่สูงกว่าไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่และครบวงจร โดยเฉพาะมาเลเซียที่ร้อยละ 60 ของพื้นที่เพาะปลูกเป็นพื้นที่ของเกษตรกรรายใหญ่ และที่เหลือเป็นของเกษตรกรรายย่อย แตกต่างกับไทยที่ส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อยกว่าร้อยละ 70 และมีพื้นที่ปลูกรายละไม่เกิน 25 ไร่ นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสองยังเป็นผู้นำด้านการเพาะปลูกพัฒนาสายพันธุ์ ตลอดจนมีโรงงานสกัดและบีบน้ำมันที่มีกำลังการผลิตมาก โดยมีการสกัดน้ำมันแยกระหว่างเนื้อปาล์มและเนื้อในเมล็ดปาล์มเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการให้น้ำมันให้มากขึ้นกว่าการสกัดจากปาล์มทั้งผล
ด้านความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มจากวันละ2.4 ล้านลิตร ในปี 2554 เป็นวันละ 8.5 ล้านลิตรในปี 2555 (ตารางที่ 1) และในระยะยาวภาครัฐยังคงดำเนินแผนระบายน้ำมันปาล์มดิบโดยให้มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสมการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 จาก บี5 เป็น บี7 แทนในต้นปี 2557 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาครัฐต้องดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าวและมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ควรให้ความรู้เพิ่มเติมแก่เกษตรกร ให้เกษตรกรรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์ รวมทั้งกำกับติดตามลานเทและโรงงานสกัดให้รับซื้อผลปาล์มสุก โดยไทยยังมีโอกาสที่จะทำรายได้จากการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซลจากแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและทิศทางการหันมาใช้พลังงานทดแทนของโลก
ปี สต็อกต้นปี ผลผลิต นำเข้า รวม ส่งออก บริโภคภายใน (6) สต็อกปลายปี รวม (1) (2) (3) (4) (5) บริโภค ผลิตไบโอดีเซล (7) (8) 2551 83,030 1,543,761 28,541 1,655,332 419,489 858,115 269,781 107,947 1,655,332 2552 107,947 1,345,245 - 1,453,192 161,128 785,770 370,776 135,518 1,453,192 2553 135,518 1,287,509 - 1,423,027 158,501 814,511 382,228 67,787 1,423,027 2554 67,787 1,832,151 59,668 1,959,606 388,940 896,463 376,617 297,586 1,959,606 2555 297,586 1,891,133 40,055 2,228,774 307,386 932,741 626,380 362,267 2,228,774 2556 362,267 2,042,623 - 2,404,890 319,439 980,105 748,976 356,370 2,404,890 ที่มา: กรมการค้าภายในและกรมศุลกากร
หากแนวโน้มเป็นไปตามนี้เราคงได้เห็นไทยมีแหล่งพลังงานที่สามารถผลิตได้เองมากขึ้นและสามารถลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม รวมถึงสร้างเสถียรภาพราคาและรายได้อย่างยั่งยืนแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย
*(1) น้ำมันปิโตรเลียม หมายถึง น้ำมันที่ได้มาจากใต้พื้นดินของโลกซึ่งมีอยู่ทั่วไป น้ำมันปิโตรเลียมเกิดจากสัตว์ทะเล ที่ตายทับถมอยู่ใต้ทะเลมหาสมุทร ไขมันของสัตว์เหล่านั้น ได้ถูกกักขังด้วยชั้นต่างๆ ตะกอนเหล่านี้จะถูกอัดให้แน่นขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหิน ดินดาน หินปูน หินทราย หยดไขมันต่างๆ เคลื่อนผ่านหินเหล่านี้จนกระทั่งไปพบกับหินที่แน่นทึบ ทำให้ไขมันไหลต่อไปไม่ได้ ไขมันที่ถูกขังจะสลายตัวเป็นน้ำมันปิโตรเลียม
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย