แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 2, 2013 15:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ชะลอลงจากไตรมาสแรก ปี 2556 ตามการใช้จ่ายของประชาชน เนื่องจากรายได้เกษตรกรลดลง และประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงขึ้น ประกอบกับแรงสนับสนุนในการใช้จ่ายจากนโยบายภาครัฐสิ้นสุดลง สะท้อนจากการค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอลง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงบ้าง จากการพักฐานชั่วคราวเพื่อรอดูแนวโน้มทางธุรกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐยังขยายตัวจากไตรมาสก่อนตามงบประจำ สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 2.85 ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 แต่ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เป็นผลจากภาคครัวเรือนเริ่มมีภาระหนี้สูงขึ้น ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย และแรงสนับสนุนการใช้จ่ายจากมาตรการของภาครัฐสิ้นสุดลงประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น สะท้อนจากการชะลอตัวของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจดทะเบียนรถยนต์ สอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.0 แต่ชะลอลงจากไตรมาสแรก ทั้งการค้าปลีกและค้าส่ง โดยเฉพาะการค้าปลีกรถยนต์ที่ชะลอลงจากที่เร่งตัวในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากผู้จำหน่ายรถยนต์ได้ทยอยส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรกเป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้างชะลอลงตามกำลังซื้อของภาคครัวเรือน สำหรับการค้าส่งชะลอลงตามการค้าส่งวัตถุดิบเกษตร ขณะเดียวกันการลงทุนของภาคเอกชนชะลอลง จากการพักฐานชั่วคราวเพื่อรอดูแนวโน้มทางธุรกิจในระยะต่อไป โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.9 แต่ชะลอลงจากไตรมาสแรก ตามการก่อสร้างนอกเขตเทศบาล สะท้อนจากยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลง ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างในเขตเทศบาลกลับเร่งตัวขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ห้างโรบินสันในสกลนคร และอาคารชุดในขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ความสนใจลงทุนในระยะสั้นยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในกิจการด้านพลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์ ขณะที่แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายจากภาครัฐยังคงมีอยู่ โดยการใช้จ่ายของภาครัฐกลับมาขยายตัวหลังจากที่ลดลงในไตรมาสแรก โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 ตามการขยายตัวของรายจ่ายประจำ โดยส่วนใหญ่เป็นเบี้ยยังชีพสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ขณะที่รายจ่ายลงทุนชะลอลง สำหรับส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 เป็นผลจากดัชนีผลผลิตพืชสำคัญลดลงร้อยละ 4.1 เนื่องจากผลผลิตข้าวลดลงจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในช่วงเพาะปลูก ขณะที่ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่กรีดที่ทยอยให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง และมันสำปะหลังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น สำหรับดัชนีราคาพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 และขยายตัวจากไตรมาสแรก ตามราคามันสำปะหลัง ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำกัด ขณะที่ราคาอ้อยโรงงานและยางพาราลดลงตามราคาในตลาดโลก ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 ตามการลดลงของการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากสินค้าคงเหลือยังมีอยู่ในระดับสูง ประกอบกับโรงงานมีการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรบางสายการผลิตสำหรับการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลง ตามความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลงอย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลยังขยายตัวตามการผลิตน้ำตาลทรายขาว เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.2 ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 48.4

ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 595.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 แต่ชะลอลงจากไตรมาสแรก จากเงินฝากประจำเป็นสำคัญ ด้านเงินให้สินเชื่อคงค้าง 721.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.7 แต่ชะลอลงบ้างจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคยกเว้นสินเชื่อขายปลีกขายส่ง สินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง สะท้อนบรรยากาศในการลงทุนของภาครัฐและเอกชน สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งเงินฝากคงค้างและเงินให้สินเชื่อคงค้างยังขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อตามโครงการของภาครัฐ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.85 ชะลอลงจากไตรมาสแรก ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าในเคหสถาน ราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้านและผลไม้สดส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.33 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ