ผลการศึกษาปัจจัยในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมในจังหวัดขอนแก่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 2, 2013 15:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 14/2556

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค ในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการเปิดโครงการเป็นจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวสูงมากตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าอาจเกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ข้อมูลจากการสำรวจ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 จังหวัดขอนแก่น มีโครงการคอนโดมิเนียม ทั้งสิ้น 47 อาคารเพิ่มขึ้นจากที่มีเพียง 8 อาคารเมื่อสิ้นปี 2554 มีจำนวนห้องชุดเปิดขายรวมทั้งสิ้น 5,664 ยูนิต ในจำนวนนี้ขายได้แล้ว 3,820 ยูนิต หรือร้อยละ 67.4 และจากการสำรวจผู้ซื้อคอนโดมิเนียมในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นจำนวน 200 ราย ระหว่างเดือนพฤษภาคม — มิถุนายน 2556 พบว่า

ผู้จองซื้อส่วนใหญ่จะซื้อคอนโดมิเนียมที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงถึงร้อยละ 59.4 อีกร้อยละ 20.7 เป็นการซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่าร้อยละ 18.0 เป็นการซื้อเพื่อการเก็งกำไร ในจำนวนนี้เป็นการจองซื้อเพื่อขายต่อทำกำไรหลังโอนกรรมสิทธิ์ ร้อยละ 12.6 และจองซื้อเพื่อขายใบจองทำกำไรระยะสั้นร้อยละ 5.4 ที่เหลืออีกร้อยละ 1.9 ซื้อเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ราคาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม รองลงมา คือ ทำเล และเงินดาวน์ต่ำ สำหรับสัดส่วนเงินดาวน์ต่อราคาอาคารชุดอยู่ที่ประมาณ 13% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง

ผู้ซื้อส่วนใหญมีอายุระหว่าง 20-29 ปี มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีอาชีพรับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทเอกชน มีรายได้เฉลี่ย 20,000 ถึง 40,000 บาท และพบว่า กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน20,000 บาท ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 18.3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะมีความเสี่ยงในด้านความสามารถในการขอสินเชื่อและการผ่อนชำระเงินกับสถาบันการเงิน โครงการคอนโดมิเนียมในจังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่ยังอยู่ะหว่งการก่สร้าง คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2557 เป็นต้นไป ซึ่งความคืบหน้าการก่อสร้างว่าจะสามารถสร้างให้แล้วเสร็จได้ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ผู้จองซื้อจะสามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตามสัญญาหรือไม่รวมทั้งสถาบันการเงินจะมีการสนับสินเชื่อให้กับผู้ซื้อมากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งต่อไปในอนาคต

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3432

E-mail: SomboonK@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ