แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2013 17:30 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2556 ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน เนื่องจากประชาชนเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงตามภาคการก่อสร้าง ผนวกกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลงทั้งงบประจำและงบลงทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจดทะเบียนรถยนต์ที่ลดลง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ชะลอลงมา อยู่ที่ระดับ 38.9 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 41.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเนื่องจากการเร่งบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ในช่วงก่อนหน้า ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้งกาลังซื้อของเกษตรกรที่ลดลงส่งผลให้การค้าปลีกและการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอลง ขณะที่การค้าปลีกรถยนต์ลดลง เนื่องจากผู้จำหน่ายส่งมอบรถยนต์ที่ค้างจองจากโครงการรถยนต์คันแรกเกือบหมดแล้ว ด้านการลงทุนภาคเอกชน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ที่ชะลอลงค่อนข้างมาก ประกอบกับพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ลดลงร้อยละ 12.6 ตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลง สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.9 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งรายจ่ายงบประจำและรายจ่ายงบลงทุน โดยส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายลดลงมากที่สุด ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ด้านการผลิตภาคเกษตรกรรม ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 เทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 0.4 ตามการลดลงด้านผลผลิตและการชะลอตัวด้านราคา โดยดัชนีผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากเกษตรกรขุดหัวมันสำปะหลังเพื่อจำหน่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีขณะที่ผลผลิตยางพาราก็ทยอยให้ผลผลิตมากขึ้นตามพื้นที่กรีดยางที่เปิดกรีดได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวยังคงลดลง เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในช่วงเพาะปลูก สำหรับดัชนีราคาพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากราคายางพาราลดลงตามราคาในตลาดต่างประเทศ และสต็อกยางที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวที่ชะลอลงจากพ่อค้าชะลอการรับซื้อเพื่อประเมินสถานการณ์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล อย่างไรก็ตามราคาหัวมันสำปะหลังยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงต้องการหัวมันสดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตในตลาดมีจำกัด ส่วนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.6 ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลง เนื่องจากโรงงานมีการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรบางสายการผลิต ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลง อย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามความต้องการภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ด้านภาคบริการชะลอลง โดยอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 48.0 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 50.5

ภาคการเงิน ณ สิ้นมิถุนายน 2556 ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากคงค้าง 595.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 แต่ชะลอลงจากเดือนพฤษภาคม ตามเงินฝากออมทรัพย์และประจำเป็นสำคัญขณะที่การให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 721.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.7 แต่ชะลอลงจากเดือนพฤษภาคมบ้างเล็กน้อย ตามการชะลอลงของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อย่างไรก็ดี สินเชื่อของภาคธุรกิจขายปลีกขายส่ง สินเชื่ออุตสาหกรรมและก่อสร้างยังขยายตัวดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 121.2 สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีเงินฝากคงค้าง 329.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.5 แต่ชะลอตัวจากเดือนพฤษภาคมในเกือบทุกธนาคาร ส่วนการให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 912.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.9 แต่ชะลอลงจากเดือนพฤษภาคมที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 โดยอัตราสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 277.2

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.79 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาผัก ผลไม้ ปลา สัตว์น้ำ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้าน และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.29 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้านเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงาน ณ เดือนมิถุนายน 2556 ยังอยู่ในระดับต่าที่ร้อยละ 0.4

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ