แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ เดือนกรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 11:15 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2556

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ ชะลอตัวลงมาก จากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ด้านการบริโภคอุปโภคภาคเอกชนทรงตัว การส่งออกชะลอลงส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอัตราการว่างงานลดลง สินเชื่อและเงินฝากชะลอตัวแต่ยังขยายตัวสูง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

ภาคอุปสงค์ชะลอตัวลงมาก โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 5.8 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับภาวะการก่อสร้างชะลอลง ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ 57.1 และร้อยละ 18.1 ตามลำดับ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เริ่มหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.3 อย่างไรก็ตาม ความต้องการลงทุนในภาคเหนือยังมีต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจานวน 10 โครงการ มูลค่า 1,503.0 ล้านบาท เพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และการลงทุนการผลิตสินค้าเกษตร การเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัดมีจำนวน 14,501.2 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 13.8 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีการเบิกจ่ายสูงตามเงินตกเบิกของเงินเดือนข้าราชการที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีจำนวนเงินจัดสรรน้อยกว่าระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายสะสมในช่วง 10 เดือน ปีงบประมาณ 2556 ยังขยายตัวร้อยละ 4.9 ทางด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าจำเป็นต่อการยังชีพยังขยายตัว ส่วนการใช้จ่ายสินค้าหมวดยานยนต์หดตัวเป็นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 ประกอบกับยอดจำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากรายได้เกษตรกรลดลง ประกอบกับความกังวลจากค่าครองชีพและภาระหนี้สูงขึ้น ตลอดจนความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย

การส่งออกมีมูลค่า 357.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 3.1 ตามการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง ผ่านด่านชายแดนไปลาว ส่วนการส่งออกผ่านด่านชายแดนไปเมียนมาร์หดตัว เพราะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ส่งออกสินค้าจำเป็นไม่ได้ ซึ่งปกติส่งออกทุกวัน การนำเข้ามีมูลค่า 164.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 19.0 จากสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการนำเข้าผ่านด่านชายแดนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการนำเข้าโค กระบือ เฟอร์นิเจอร์และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้ และพืชผลการเกษตรที่ใช้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าก่อนน้ำท่วม

ภาคอุปทานชะลอลง โดยปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลดลง อาทิ ข้าวนาปรัง สับปะรด และลำไยเพราะในช่วงการผลิตประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนและภาวะแล้ง เป็นผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 8.3 ส่วนราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นเล็กน้อยจากราคาสินค้าปศุสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ได้แก่ ค่าแรงและพันธุ์สัตว์ ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.3 ตามการผลิตทั้งสินค้าเพื่อส่งออกและใช้ในประเทศ ได้แก่ เครื่องดื่มอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศชะลอลง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้โดยปกติถือว่า เป็นช่วง low season เนื่องจากได้รับผลดีจากการจัดกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคเหนือ และการจัดการสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และการมาเที่ยวซ้าของนักท่องเที่ยวแถบเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

เสถียรภาพในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 2.69 อัตราการว่างงานเดือนมิถุนายน 2556 ลดลงจากร้อยละ 1.0 ระยะเดียวกันปีก่อนเหลือร้อยละ 0.5 ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเดือนกรกฎาคม 2556 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ

ภาคการเงินชะลอตัวลงแต่ยังขยายตัวสูง โดยเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน2556 มียอดคงค้าง 531,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวสูงมากรองลงมาเป็นสินเชื่อภาคธุรกิจประเภทสาธารณูปโภค พาณิชย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ด้านเงินฝากมีจำนวน 569,438 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.6 เพื่อระดมเงินฝากรองรับการขยายตัวของสินเชื่อโดยการจัดกิจกรรมและการออกผลิตภัณฑ์การเงินใหม่จูงใจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร. 0 5393 1162

e-mail : Thaveesc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ