สรุปการสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ธปท.สภอ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2013 10:59 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 17/2556

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) จัดสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี แห่งการก่อตั้ง ธปท. สภอ. ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2556 เวลา 12.30 - 16.30 น. ณ ห้องออคิด บอลรูม 2-3 ชั้น 2 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวเปิดการสัมมนาและแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทเรียน ความท้าทาย และกลยุทธ์ ในการรักษาเสถียรภาพการเงินภายใต้ความผันผวนการเงินโลก” โดยเห็นว่าความผันผวนของตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากปิดกั้นไว้อาจทำให้ประเทศเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเงินทุนนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการกับเงินทุนเคลื่อนย้ายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องติดตามภาวะการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วยความตื่นรู้ คือ รู้ทัน รู้จริง รู้ตัวและรู้รับมือ จะสามารถลดความเสี่ยงที่ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจะสร้างความเสียหาย และทำให้ประเทศได้ประโยชน์อย่างมากจากความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจการเงินโลกเนื่องจากประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก สำหรับมุมมองต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นว่าเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านที่ตั้ง ที่มีพื้นที่มาก และเป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงกับประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเซีย เช่น จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมด้านกำลังคน ที่มีประชากรจำนวนมาก และมีความขยัน อดทน เป็นทุนเดิม

สำหรับการเสวนาเรื่อง “ผลกระทบจากความผันผวนการเงินโลกต่อภูมิภาค” มีวิทยากรเข้าร่วมการเสวนา 3 คน ประกอบด้วย ดร.จอน วงศ์สวรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายเฮดจ์ฟันด์ สายงานลงทุนและ ค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ดร.ปฤษันต์ จันทน์หอม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธปท. และนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญสรุป ได้ดังนี้

  • พื้นฐานทางเศรษฐกิจและอัตราผลตอบแทนที่ต่างกันในแต่ละประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการเคลื่อนย้ายเงินทุน ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับเงินทุนที่ไหลเข้าจำนวนมาก เช่น เกาหลีใต้ จะใช้วิธีการจัดการที่โปร่งใส ชัดเจน เน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เงินทุนเมื่อเข้าประเทศแล้วไหลกลับน้อยมาก เป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
  • เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สำหรับเศรษฐกิจจีนแม้จะไม่ขยายตัวสูงมากเหมือนในอดีต เนื่องจากทางการจีนให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจมากขึ้น แต่จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่หลายประเทศสามารถพึ่งพิงได้ ไทยจึงควรปรับโครงสร้างการผลิตให้อิงกับเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีการผลิตของจีนให้มากขึ้น
  • ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ และหนี้ของภาคเอกชนของประเทศพัฒนาแล้วเช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน และการส่งออกกับประเทศที่มีการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุน เช่นเดียวกับนโยบาย QE ของสหรัฐอเมริกา ที่ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออัตราผลตอบแทน และราคาสินทรัพย์ในหลายประเทศรวมทั้งไทยนักลงทุนจึงควรคำนึงถึงปัจจัยผลตอบแทนที่คาดหวัง ความสามารถในการรับความเสี่ยง และระยะเวลาในการถือครองสินทรัพย์ ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม
  • การสะสมองค์ความรู้ และการสร้างความแตกต่างจะช่วยต่อยอดธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว สำหรับการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจให้น่าเชื่อถือในระดับสากลและยังช่วยให้ธุรกิจมีแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำนั้น ธุรกิจจะต้องศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจในตลาดทุน และมีการเตรียมการที่ดี เช่น การเตรียมที่ปรึกษาทางการเงิน การวางระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต้องยอมรับแรงกดดันจากความผันผวนของตลาดที่จะมีผลต่อมูลค่าหุ้นของบริษัทซึ่งบางครั้งมิได้อิงกับผลประกอบการของธุรกิจที่แท้จริง
  • การจัดการกับความผันผวนด้านการเงินของประเทศไทย ควรมีมาตรการหรือนโยบายเศรษฐกิจที่โปร่งใส มีการปรับตัวต่อสถานการณ์เศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ภาครัฐควรดูแลและพัฒนาภาคเศรษฐกิจจริงให้แข็งแกร่งมากขึ้นทั้งภาคการผลิต การค้า การขนส่ง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพแรงงานโดยเฉพาะด้านการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เมื่อโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศดีแล้วจะมีแรงดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้า และอยู่ในประเทศเพื่อก่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริงต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3430

E-mail: TheeramP@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ