แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2013 14:11 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 43/2556

เศรษฐกิจเดือนสิงหาคม 2556 เริ่มทรงตัวจากเดือนก่อน โดยระดับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกมีสัญญาณปรับดีขึ้นโดยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นตาม สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลการค้า ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและดุลการชำระเงินขาดดุล

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทั้งค่อนข้างทรงตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวแต่ขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายยานยนต์หดตัว อย่างไรก็ดี แม้ยอดจำหน่ายยานยนต์หดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับฐานในปีก่อนที่สูง แต่ปริมาณการจำหน่ายเริ่มทรงตัว

การลงทุนภาคเอกชนเริ่มทรงตัวจากเดือนก่อนเช่นกัน แต่หากเทียบกับฐานที่สูงในเดือนเดียวกันปีก่อนการลงทุนยังหดตัว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 4 ตามการหดตัวของการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ดี การลงทุนก่อสร้างยังขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างโดยเฉพาะหมวดที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกสินค้าได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศมากขึ้น โดยการส่งออกมีมูลค่า 19,991 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าประมงและสินค้าเกษตรแปรรูปยังคงลดลงเนื่องจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมลดลงตามการส่งออกยางพาราที่คำสั่งซื้อจากจีนชะลอลงเนื่องจากมีสต็อกอยู่ในระดับสูงและการส่งออกข้าวที่ความต้องการจากต่างประเทศลดลงเนื่องจากราคาของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งและผลผลิตของประเทศผู้นำเข้าหลักมีมากขึ้น

การส่งออกที่มีสัญญาณปรับดีขึ้นส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกปรับดีขึ้นสอดคล้องกัน และทำให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากการปรับดีขึ้นของการผลิตเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การผลิตปิโตรเลียมและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เพิ่มขึ้นแต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อน ส่วนการผลิตกุ้งแช่แข็งยังคงลดลงจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัว ส่งผลให้การนำเข้ามีมูลค่า 17,777 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 2.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกเริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้น

รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคาที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากการเพิ่มขึ้นของราคากุ้งที่ผลผลิตลดลงเนื่องจากปัญหาโรคระบาด ราคาปศุสัตว์จากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และราคามันสำปะหลังที่มีความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคายางพารายังคงลดลงตามคำสั่งซื้อจากจีนที่ชะลอลง ประกอบกับสต็อกของจีนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาข้าวลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลง สำหรับด้านผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตข้าวและกุ้ง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.5 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.1 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคโดยเฉพาะจีน มาเลเซียและรัสเซีย

ภาครัฐ รายจ่ายลดลงจากเงินโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนนอกงบประมาณหลังจากที่เร่งโอนไปมากในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการเบิกจ่ายลงทุนเพื่องานด้านชลประทานและคมนาคมค่อนข้างล่าช้า ส่วนรายได้ค่อนข้างทรงตัวโดยการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์ลดลง รายได้ที่มากกว่ารายจ่ายทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 17 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.59 ตามการชะลอตัวของราคาพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ชะลอลงตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาที่อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลการค้า ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติส่วนดุลการชำระเงินขาดดุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ