แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2013 14:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2556 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรที่กำลังซื้อลดลงจากรายได้ที่ลดลง รวมถึงสถาบันการเงินเริ่มชะลอการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคสอดคล้องกับภาคการค้าที่ลดลง โดยเฉพาะการค้าในหมวดยานยนต์ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐลดลงทั้งรายจ่ายงบประจำและรายจ่ายงบลงทุน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.37 ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.6

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น มีผลกระทบทำให้การซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลง โดยเฉพาะการซื้อสินค้าในหมวดยานยนต์ โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการจดทะเบียนรถยนต์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 41.0 จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 38.9 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้าที่ลดลง โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.6 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากการลดลงของการค้าปลีก โดยเฉพาะการค้าในหมวดสินค้าคงทนจากหมวดรถยนต์ หลังจากที่มีการส่งมอบรถยนต์ที่ค้างจองจากมาตรการรถยนต์คันแรกในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับคำสั่งซื้อใหม่ชะลอลงตามภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการค้าปลีกและค้าส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง สอดคล้องกับการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี การค้าส่งและค้าปลีกสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวดี สะท้อนจากยอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และยอดขายปลีกอาหารและเครื่องดื่มยังคงเพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชน ชะลอลงจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 21.5 ตามการลดลงของการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลง ประกอบกับเงินลงทุนในธุรกิจตั้งใหม่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.6 จากหมวดบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้เงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 314.4 เนื่องจากมีการขอตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่จังหวัดชัยภูมิ บึงกาฬ ขอนแก่น และอุบลราชธานี รวม 6 โรงงาน มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,410.0 ล้านบาท นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงให้ความสนใจลงทุน สะท้อนจากโครงการได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ด้านพลังงานลมและแสงอาทิตย์จำนวน 9 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 29,807.9 ล้านบาท รวมถึงเขตอุตสาหกรรมที่จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 2,000 ไร่ มูลค่าเงินลงทุน 4,250.0 ล้านบาท ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.8 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งรายจ่ายงบประจำและรายจ่ายงบลงทุน ตามการเบิกจ่ายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.1

ภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 จากผลผลิตลดลงและการชะลอตัวของราคา โดย ดัชนีราคาพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคายางพาราที่ลดลงต่อเนื่องจากสต็อกอยู่ในระดับสูงและการชะลอคำสั่งซื้อของจีน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเนื่องจากมีสต็อกมาก ราคามันสำปะหลังชะลอลงจากการระบายผลผลิตตามโครงการรับจำนำ ขณะที่ผู้ประกอบการยังต้องการหัวมันสดอย่างต่อเนื่อง ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อนส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดที่มีจำกัดเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามผลผลิตมันสำปะหลังเป็นสำคัญเนื่องจากเกษตรกรขุดหัวมันสำปะหลังเพื่อจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามแรงจูงใจของราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ผลผลิตยางพาราทรงตัวจากเดือนก่อน ส่วนผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและมันสำปะหลัง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.6 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนและลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลง เนื่องจากโรงงานมีการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรบางสายการผลิตต่อเนื่องจากเดือนก่อน ประกอบกับการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขึ้น แต่ชะลอลงบ้างจากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ภาคบริการ ชะลอลง โดยอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 49.9 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตราการพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 51.2

ภาคการเงิน ณ สิ้นกรกฎาคม 2556 ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากคงค้าง 584.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.1 แต่ชะลอลงจากเดือนมิถุนายน ตามการชะลอของเงินฝากออมทรัพย์และฝากประจำ และการหดตัวของเงินฝากกระแสรายวัน ขณะที่การให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 728.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.6 ชะลอลงจากเดือนมิถุนายนเล็กน้อย สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 124.7 ยังคงสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากมียอดคงค้าง 327.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.6 เร่งตัวจากเงินฝากหลายธนาคาร โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในขณะที่การให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 916.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.9 แต่ชะลอลงจากเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 เป็นการชะลอตัวของการให้สินเชื่อทุกธนาคาร ตามการชะลอตัวของมาตรการภาครัฐ สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 279.9 ยังคงสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.37 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาผักสด และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.19 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงาน ณ เดือนกรกฎาคม 2556 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ