ฉบับที่ 45/2556
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดาเนินนโยบายการเงินและ การประเมินภาวะเศรษฐกิจของ กนง. สาระสาคัญสรุปได้ดังนี้
1. ทิศทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวมากกว่าคาดและการส่งออกฟื้นตัวล่าช้า ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่องตามที่คาดไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศหลักมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้นจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรเริ่มพ้นจุดต่าสุดโดยการผลิตและการใช้จ่ายเริ่มปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน (ASEAN) ขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยรวมแล้วอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไทยมีแนวโน้มไม่ต่างจากที่ประเมินไว้เดิม
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่เคยคาดไว้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มพักฐาน นานกว่าที่คาด โดยเฉพาะการซื้อสินค้าคงทนซึ่งชะลอลงหลังจากสิ้นสุดมาตรการรถคันแรก ในขณะที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นเนื่องจากความเชื่อมั่นลดลงและมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น กอปรกับแรงกระตุ้นภาครัฐ มีน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม ทั้งรายจ่ายในงบประมาณที่ล่าช้าและรายจ่ายในแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะเลื่อนออกไปเริ่มดำเนินการในปี 2557 นอกจากนี้ การส่งออกยังฟื้นตัวล่าช้าและยังไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดโลก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีนี้ เนื่องจากคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนน่าจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติในปีหน้า ประกอบกับมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน อาทิ รายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานโดยรวมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และนโยบายการเงินการคลังยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นจะทำให้ส่งออกสินค้าและบริการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจให้ลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ
แรงกดดันเงินเฟ้อน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลง ขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มีโอกาสที่จะโน้มสูงขึ้นบ้างในระยะข้างหน้าจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง กอปรกับคณะกรรมการฯ ปรับข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบในปี 2557 ให้สูงขึ้นกว่าข้อสมมติเดิมเล็กน้อยตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยที่ยังคง ข้อสมมติยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไว้ตลอดช่วงประมาณการ
2. ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
จากการประเมินภาพเศรษฐกิจข้างต้นคณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งในปี 2556 และ 2557 ลงจากที่เคยคาดไว้เดิม และเห็นว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังคงโน้มไปทางด้านต่ำจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และมีความเสี่ยงจากการใช้จ่ายโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่าที่คาดไว้ แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการเศรษฐกิจจึงเบ้ลงมากกว่า ประมาณการครั้งก่อน ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ปรับลดลงเช่นกันทั้งในป 255 และ 2557 และมีความเป็นไปได้ว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์อาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในกรณีฐานเนื่องจากความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจในด้านต่ำมีมากขึ้น แผนภาพรูปพัดของประมาณการอัตราเงินเฟ้อจึงเบ้ลงมากกว่าเดิม
ร้อยละต่อปี 2555 2556 2557 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.5 3.7 4.8
(4.2) (5.0)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.0 2.2 2.4
(2.3) (2.6)
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.1 1.0 1.2
(1.1) (1.4) หมายเหตุ: * ข้อมูลจริง ( ) รายงานนโยบายการเงินฉบับกรกฎาคม 255
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกระทรวงพาณิชย์ และประมาณการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสม โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ชะลอลงตามการซื้อสินค้าในหมวดยานยนต์และกลุ่มสินค้าคงทนของภาคครัวเรือนกอปรกับการส่งออกชะลอลงสอดคล้องกับการส่งออกของประเทศในภูมิภาค และคาดว่าในระยะต่อไปอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีความเสี่ยงที่จะฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่เคยคาดไว้ แต่เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้โดยที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำคณะกรรมการฯ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังมีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินและความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม จึงมีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจไทยแม้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาด แต่เริ่มทรงตัวและเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นในบางภาค ความเสี่ยงสาคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจคือความไม่แน่นอนของการทยอยลดแรงกระตุ้นทางการเงินรวมทั้งปัญหาหนี้สาธารณะในสหรัฐฯ ซึ่งยังจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงินและอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่ต่อไปเป็นระยะ ในขณะที่แรงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากภาคการคลังในส่วนของรายจ่ายลงทุนภาครัฐอาจล่าช้าด้วย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสมต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม: ฐิติมา ชูเชิด โทร. 0 2283 5629 E-mail: thitimac@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย