แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2013 17:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2556 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลง เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงลดลงตามภาคการก่อสร้าง สอดคล้องกับยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐลดลง ทั้งงบประจำและงบลงทุน อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ แต่ราคาพืชผลยังคงลดลง ส่วนภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง สำหรับเสถียรภาพด้านราคายังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอลง เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 0.1 และชะลอลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 39.1 ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.7 ส่งผลทำให้ภาคการค้าลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 ตามการค้าปลีกสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะการจำหน่ายรถยนต์ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น ขณะที่การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่สินค้าคงทนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

การลงทุนภาคเอกชนลดลง ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 สะท้อนจากการลดลงของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลโดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ สอดคล้องกับการลดลงของยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังให้ความสนใจลงทุน โดยเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่เพิ่มขึ้นถึง 1.9 เท่า โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก และเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้น1.2 เท่า จากธุรกิจผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมเป็นสำคัญด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 41.9 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากการประกาศ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2557 ล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลให้รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนลดลง โดยเฉพาะหมวดเงินเดือน หมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ หมวดเงินอุดหนุนทั่วไปตลอดจนงบลงทุนหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง สำหรับส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายลดลงมากที่สุด ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภาคเกษตร เริ่มปรับตัวดีขึ้น พิจารณาจากดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 เป็นผลจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาพืชผลยังคงลดลง โดยดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 ตามผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น เนื่องจากยางพาราบางส่วนเริ่มโตเต็มที่ทำให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และมีพื้นที่เปิดกรีดเพิ่มขึ้น ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคามันสำปะหลังลดลง เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่น้ำท่วมเร่งขุดหัวมันออกจำหน่าย ราคายางพาราลดลงตามราคาตลาดโลก และสต็อกอยู่ในระดับสูง สำหรับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลง เนื่องจากผลผลิตของฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาครัฐทยอยระบายข้าวในโครงการรับจำนำออกมาเป็นระยะ ๆ

การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.7 แต่หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อนเนื่องจากการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จากการผลิตน้ำตาลทรายขาวเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการด้านภาษีมีความชัดเจน ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 19.6 สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 43.7 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 44.2

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากคงค้าง 582.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 แต่ชะลอลงจากเดือนสิงหาคม ตามการชะลอตัวของเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ ขณะที่เงินฝากกระแสรายวันลดลง ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 746.5 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.2 แต่ชะลอลงต่อเนื่อง ตามสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์เป็นสำคัญในขณะที่สินเชื่อเพื่อการผลิต และค้าปลีก-ค้าส่งขยายตัว ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 128.1 สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 324.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.6 ทรงตัวจากเดือนสิงหาคม โดยเงินฝากของธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ชะลอลง ในขณะที่เงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้น ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 928.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 แต่ชะลอลงจากเดือนสิงหาคม ตามการชะลอลงของสินเชื่อเกือบทุกธนาคาร อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังอยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 286.0

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.21 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ผักสด และผลไม้เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.06 สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ