พฤศจิกายน 2556
ในช่วงที่อุตสาหกรรมกุ้งของไทยต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ อันเนื่องมาจากการเกิดโรคระบาดของกุ้งขาวแวนนาไม ที่เรียกกันว่าโรคตายด่วนหรือโรค EMS (Early Mortality Syndrome) หลายฝ่ายได้มองถึงสถานการณ์นี้อย่างวิตกกังวล เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป นอกจากอุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องเผชิญปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนอย่างหนักแล้ว อาจทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องสูญเสียโอกาสในการแข่งขันหรือตลาดคู่ค้าหลักให้กับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นซึ่งเดิมไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง ซึ่งปีนี้ไทยได้สูญเสียตลาดให้กับประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดียไปแล้ว แม้ในภาพรวมไทยยังเป็นผู้ผลิตและแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออกรายใหญ่ของโลกก็ตาม แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะประเทศคู่แข่งกำลังวิ่งตามหลังมาติดๆ การจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้และด้วยความหวังที่จะครองตำแหน่งที่หนึ่งต่อไป ก็ดูจะยากมากขึ้น เพราะประเทศคู่ค้าหลักต่างก็มีโอกาสที่จะเลือกซื้อสินค้าจากคู่แข่ง หรือใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองทางการค้าได้
เรามาทำความรู้จักกับประเทศคู่แข่งของอุตสาหกรรมกุ้งไทยว่ามีใครบ้าง เอกวาดอร์ หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมกุ้งในทวีปลาตินอเมริกา ย่อมนึกถึงประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเอกวาดอร์ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีชายฝังตื้น และภูมิอากาศอบอุ่นเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่าว Guayaquil เอกวาดอร์มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งประมาณ 0.9 - 1.1 ล้านไร่ และจะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมเป็นหลัก โดยเริ่มเลี้ยงมาก่อนประเทศไทยตั้งแต่ปี 2513 มีทั้งเลี้ยงแบบธรรมชาติและแบบกึ่งพัฒนา ประกอบกับบทเรียนที่เคยได้รับจากผลกระทบของโรคระบาดในกุ้ง อาทิ โรคดวงขาว (WSSV) และโรคทอร่า (TSV) เมื่อประมาณปี 2545 ทำให้เอกวาดอร์ยังคงเลี้ยงกุ้งแบบไม่หนาแน่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางท่านให้ข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในปีที่ผ่านมาการเลี้ยงกุ้งของเอกวาดอร์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากโรค EMS ซึ่งพบมากในประเทศที่มีการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา หรือเลี้ยงแบบหนาแน่นมาก ผลผลิตกุ้งของเอกวาดอร์ในปี 2554 มีปริมาณ 260,000 ตัน และคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในปีถัดไป จะเห็นได้จากในปี 2555 ปริมาณการส่งออกรวม 210,566.8 ตัน มูลค่ากว่า 1,290.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากในปี 2554 ซึ่งมีปริมาณการส่งออก 188,098.2 ตัน มูลค่า 1,183.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักยังคงเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งแช่เย็นแช่แข็งซึ่งเป็นการแปรรูปกุ้งอย่างง่าย ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
เวียดนาม เป็นประเทศที่มีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศ จุดเปลี่ยนของการพัฒนาประเทศรวมถึงอุตสาหกรรมกุ้งนั้น เริ่มจากการเปิดประเทศรับวิธีการทุนนิยมมาใช้ในช่วงปี 2532 ผ่านมาตรการโด่ยเหมย (Doi Moi Policy) ซึ่งส่วนหนึ่งของมาตรการนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวและนาเกลือที่มีผลิตภาพต่ำมาเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้ง จนมีพื้นที่ประมาณ 3.8 ล้านไร่ในปี 2552 การเลี้ยงส่วนใหญ่ยังเป็นระบบการเลี้ยงแบบธรรมชาติและยังคงเป็นผู้นำในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ คิดเป็นประมาณร้อยละ 60.5 ของผลผลิตกุ้งในประเทศ ส่วนการเลี้ยงกุ้งขาวในอดีตนั้นอนุญาตให้เลี้ยงในเวียดนามตอนกลางและตอนเหนือเท่านั้น แต่ในปี 2551 รัฐบาลเริ่มอนุญาตให้เลี้ยงทางตอนใต้ของประเทศเฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด ทำให้สัดส่วนการผลิตกุ้งขาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้รับผลกระทบจากโรค EMS ที่สร้างความเสียหายในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ของประเทศ จึงคาดว่าผลผลิตในปี 2555 จะลดลงจากปริมาณ 496,000 ตัน ในปี 2554 สำหรับการส่งออกเดิมส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์กุ้งแช่เย็นแช่แข็งเกือบทั้งหมด ต่อมามีการพัฒนาเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพ อาทิ ตรวจพบสารปนเปอน Ethoxyquin ในสินค้าส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญ อย่างไรก็ดีหากเวียดนามสามารถพัฒนาคุณภาพให้น่าเชื่อถือก็จะนับเป็นคู่แข่งทางตรงของไทยทีเดียว
อินเดีย เป็นอีกหนึ่งประเทศผู้ผลิตกุ้งหลักของโลก ด้วยชายฝังยาวรอบประเทศทั้ง 3 ด้าน ที่เหมาะแก่การประมง จากข้อมูลในปี 2548 มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งประมาณ 743,643.7 ไร่ โดยผลิตกุ้งกุลาดำเป็นหลัก แต่หลังจากที่รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตนำเข้าแม่พันธุ์กุ้งขาวแวนนาไม ก็ได้มีการเริ่มผลิตกุ้งขาวตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีผลผลิตส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากพื้นที่ฟาร์มที่ได้รับอนุญาตเพาะเลี้ยงจากรัฐ ทำให้ข้อมูลผลผลิตกุ้งที่เปิดเผยของทางการคาดว่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง โดยปริมาณผลผลิตที่รายงานในปี 2554 มีจำนวน 104,982 ตัน ในขณะที่การส่งออกมีปริมาณถึง 245,633.3 ตัน ด้วยมูลค่า 1,619.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปยังตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยยังคงเป็นการส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งเป็นหลัก ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตกุ้งอินเดียจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากหันมาผลิตกุ้งขาวเป็นหลัก และคาดการณ์ว่าผลผลิตกุ้งขาวในปี 2555 จะมีปริมาณ 230,000 ตัน
จีน การเลี้ยงกุ้งในประเทศจีนจะคล้ายคลึงกับประเทศเวียดนาม กล่าวคือ รัฐบาลจีนมีการส่งเสริมให้เลี้ยงกุ้งตั้งแต่ปี 2521 หลังจากผู้นำประเทศได้นำระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมาใช้ โดยเริ่มเลี้ยงจากพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ และขยายลงมาจนถึงทางตอนใต้ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นพื้นที่หลักในการผลิตกุ้งของจีน ที่ผลิตได้กว่าร้อยละ 64.3 ของผลผลิตกุ้งทั้งประเทศ แม้ว่าพื้นที่เลี้ยงทางตอนใต้มีเพียงร้อยละ 31.2 ของพื้นที่เลี้ยงทั้งประเทศก็ตาม เนื่องจากเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนาที่หนาแน่นสูง และภูมิอากาศเอื้อต่อการเลี้ยงมากกว่าทางตอนเหนือและตอนกลาง จีนถือเป็นผู้ผลิตกุ้งอันดับ 1 ของโลก โดยผลิตกุ้งขาวแวนนาไมเป็นหลัก ด้วยปริมาณการผลิตสูงกว่า 1.5 ล้านตันในปี 2554 ในขณะที่มีการบริโภคภายในประเทศสูงเช่นกัน ทำให้การส่งออกมีเพียงร้อยละ 19.6 ของผลผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 305,227.7 ตัน ด้วยมูลค่าส่งออก 2,189.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูปในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยประเทศจีนประสบปัญหาโรค EMS ทำให้ผลผลิตคาดว่าจะลดลงในปีที่ผ่านมา และมีความต้องการนำเข้าเพื่อบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น
อินโดนีเซีย โดยที่ภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะกว่า 17,000 เกาะ มีพื้นที่ชายฝังที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงแบบพัฒนาและเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ในอดีตอินโดนีเซียจะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นหลัก และเริ่มเลี้ยงกุ้งขาวนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาฟาร์มกุ้งระหว่างปี 2549-2552 โดยมีเป้าหมายการผลิต 540,000 ตันภายในปี 2552 เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อย่างไรก็ตามผลผลิตกลับมิได้เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาดในกุ้ง อาทิ โรคดวงขาว (WSSV) และโรคกล้ามเนื้อขาวขุ่น (IMNV) เป็นต้น หลังจากค่อย ๆ ฟนตัวจากภาวะการณ์โรคระบาด โดยในปี 2555 ผลผลิตมีประมาณ 415,703 ตัน และตั้งเป้าหมายการผลิตไว้ที่ประมาณ 608,000 ตันในปี 2556 ด้วยการเพิ่มพื้นที่พัฒนาใหม่และพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลคาดว่าผลผลิตจะสามารถแซงหน้าคู่แข่งหลักรวมถึงไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรค EMS สำหรับด้านสินค้าส่งออกในอดีตเกือบทั้งหมดเป็นกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตกุ้งแปรรูปเพิ่มขึ้น จนในปี 2554 มีปริมาณส่งออกรวม 152,152.9 ตัน มูลค่า 1,285.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากภาษิตจีนโบราณของซุนวู ที่กล่าวว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" นั้น เมื่อเรารู้ว่าคู่แข่งได้มีการพัฒนาทั้งการเลี้ยงและการแปรรูปในอุตสาหกรรมกุ้งเพื่อส่งออกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาครัฐของแต่ละประเทศได้มีการส่งเสริมด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศและการส่งออกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว เรากลับมาย้อนมองตัวเราเองและตั้งคำถามว่า "รู้เรา หรือไม่?" เพราะหากเรายังไม่มีมาตรการใดเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งอย่างเป็นรูปธรรมและร่วมใจกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว แม้ไม่เกิดปัญหาผลผลิตกุ้งลดลงอย่างฮวบฮาบจากโรค EMS (Supply Shock) แต่พัฒนาการของคู่แข่งที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เราแพ้ในการรบในสมรภูมินี้และสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างถาวรได้ในที่สุด
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย