สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนตุลาคม ปี 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 3, 2013 10:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 22/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนตุลาคม 2556 ในภาพรวมทรงตัวจากเดือนก่อน แม้ว่าการผลิตภาคเกษตรจะหดตัว แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวขยายตัวดี และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนบางส่วนแม้จะหดตัว แต่มีสัญญาณการลงทุนที่ดีจากโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรายและเงินลงทุนด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 8.8 ตามผลผลิตกุ้งขาวที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาโรคระบาดและผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากราคากุ้งขาวที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคายางยังคงลดลงตามราคาตลาดโลกและสต็อกยางในจีนสูงสุดในรอบ 3 ปี รวมทั้งราคาปาล์มน้ำมันลดลงจากแรงกดดันของสต็อกในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 6.0

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.5 ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่หดตัวมากในช่วงก่อนหน้า เป็นผลจากการผลิตยางและไม้ยางพาราแปรรูปเร่งตัวขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อจากคู่ค้าหลักเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะความต้องการไม้ยางพาราแปรรูปในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังคงร้อนแรง สอดคล้องกับการส่งออกยางและไม้ยางพาราแปรรูปเร่งตัวร้อยละ 19.4 และ 34.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอื่นยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการผลิต โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนอาหารทะเลบรรจุกระป๋องตลาดตะวันออกกลางมีคำสั่งซื้อลดลง เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.8 โดยเครื่องชี้สำคัญลดลงทุกหมวด ทั้งการก่อสร้างการจำหน่ายปูนซีเมนต์ มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนยังมีต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน 13 โครงการเงินลงทุน 5,719.3 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการด้านโรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม และแปรรูปอาหารทะเลเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีการขยายการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสอดคล้องกับความเห็นที่ได้จากโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ/ธุรกิจ ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและนักธุรกิจ

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 สะท้อนถึงกิจกรรมและธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งการค้าปลีกค้าส่ง และการท่องเที่ยวที่สนับสนุนให้การใช้จ่ายยังคงขยายตัว ถึงแม้การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์จะลดลงต่อเนื่อง

ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 14.4 จากนักท่องเที่ยวชาวจีน มาเลเซีย และรัสเซียเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจีนชะลอลง เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยเรื่องการท่องเที่ยวฉบับใหม่ที่เริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ทำให้ต้นทุนการท่องเที่ยวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มคาดว่านักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาจะมีคุณภาพมากขึ้น

รายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรชะลอลงมาก โดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.9 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรที่ลดลงเกือบทุกประเภทเป็นสำคัญ ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากหมวดสุราที่มีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณลดลงร้อยละ 28.0 ตามการลดลงทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน จากการเบิกจ่ายประเภทเงินเดือนและเงินอุดหนุนลดลง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.60 จากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญ ขณะที่หมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มชะลอลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงตามราคาตลาดโลก

ส่วนเงินให้สินเชื่อคาดว่ายังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการระดมเงินฝากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ส่งผลให้เงินฝากขยายตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม: ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ