จับตา “ยางพาราอินโดนีเซีย: ความท้าทายต่อยางไทยในอนาคต”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 16, 2013 13:50 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

กฤษณี พิสิฐศุภกุล

ธันวาคม 2556

ตั้งแต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟ้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกปี 2552 ตลาดยางกลับมาสู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากฐานะทางการเงินและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศในแถบเอเชีย ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว จีนและอินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงปี 2553 ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อไตรมาส 1 ปี 2554 โดยราคายางในตลาดโลกเพิ่มสูงถึง 5.75 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ตลาดยางโลกที่ฟ้นตัวทำให้หลายประเทศผู้ผลิตเร่งผลิตยางธรรมชาติและส่งออกเพื่อรองรับความต้องการบริโภคยางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอินโดนีเซียเร่งพัฒนาการปลูกและส่งออกยาง ภายใต้แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือ Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development 2011-2025 โดยวางเป้าหมายพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรที่สำคัญ ซึ่งแผนนี้วางเป้าหมายให้เกาะสุมาตราเป็นแกนหลักในการผลิตและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกยางธรรมชาติแห่งใหญ่ของประเทศ

ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 2 ของโลกรองจากไทย ในปี 2555 มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 3.46 ล้านเฮกตาร์1 ให้ผลผลิต 3.07 ล้านตัน พื้นที่ที่ปลูกมากอันดับ 1 คือ เกาะสุมาตรา รองลงมา คือ กาลิมันตัน และจัมบี้ ผลผลิตยางธรรมชาติส่วนใหญ่ได้มาจากเกษตรกรรายย่อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 ที่เหลือเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่และพื้นที่ของรัฐคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 และ 7 ตามลำดับ โดยผลผลิตประมาณร้อยละ 90 จะถูกนำไปแปรรูปเป็นยางแท่งเพื่อส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย (Smallholders) การปลูกจึงมีลักษณะแบบสวนป่า กล้ายางที่ใช้ยังเป็นพันธุ์เก่า ทำให้มีผลิตภาพการผลิต (productivity) ค่อนข้างต่ำ จากข้อมูลของสมาคมยางพาราอินโดนีเซีย (GAPKINDO) อินโดนีเซียมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 880-1,000 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ในขณะที่ไทยและมาเลเซียมีผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 1,500 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ เนื่องจากขาดการลงทุนปลูกทดแทนต้นยางเก่าที่เสื่อมสภาพซึ่งให้น้ำยางน้อยและขาดการพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้ผลผลิตยางธรรมชาติที่ได้จึงมีน้อยและคุณภาพต่ำ เกษตรกรต้องยอมขายผลผลิตในราคาที่ต่ำตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตระหนักถึงจุดอ่อนของยางพาราที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ตั้งแต่ปี 2550 กระทรวงเกษตรได้มีโครงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้จำนวน 40 ล้านรูเปียะต่อเฮกตาร์แก่เกษตรรายย่อยเพื่อใช้ในการปลูกยางใหม่ โดยตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่เพาะปลูกให้ถึง 1.3 ล้านเฮกตาร์ภายในปี 2553 และต่อมาภาครัฐได้ขยายโครงการออกไปจนถึงปี 2557 โดยหวังจะให้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นอีก 4 แสนเฮกตาร์ รวมทั้งยังส่งเสริมการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกและเทคโนโลยีการกรีดเพื่อเพิ่มน้ำยางแก่เกษตรกร ซึ่งล่าสุดปี 2555 รัฐบาลวางแผนใช้งบประมาณ 5 ล้านล้านรูเปียะ หรือประมาณ 530 ล้านดอลลาร์สรอ. ในการพัฒนาพื้นที่ปลูกยางของรัฐ โดยลงทุนปลูกยางใหม่เพื่อหวังจะเพิ่ม productivity ให้ได้ถึง 1,300 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ภายในปี 2557

นอกจากการดูแลอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ อินโดนีเซียยังมีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตยาง กล่าวคือ ไม่มีการเก็บเงินสงเคราะห์หรือค่า CESS เหมือนอย่างไทยและมาเลเซีย ต้นทุนการส่งออกจึงถูกกว่า ทำให้สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ ประกอบกับอินโดนีเซียมีประชากรและกำลังแรงงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ขาดทักษะ ค่าจ้างในการกรีดยางและค่าจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมยางแปรรูปยังอยู่ในระดับต่ำและถูกกว่าเมื่อเทียบกับแรงงานไทย จึงทำให้ผลผลิตยางธรรมชาติจากอินโดนีเซียสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งรายอื่นในตลาดโลกได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟ้นตัว ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยางล้อหลายบริษัทให้ความสำคัญกับต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลงภายใต้การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยางขั้นสุดท้าย (End products) เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยจะทำการซื้อยางจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐานกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าตามที่กำหนด ซึ่งโรงงานแปรรูปยางในอินโดนีเซียหลายแห่งมีศักยภาพและสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบเหล่านี้ได้ ดังนั้นแนวโน้มการนำเข้ายางจากประเทศผู้ผลิตอย่างไทยหรืออินโดนีเซีย ราคาเปรียบเทียบ (Relative price) จึงเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญ

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อินโดนีเซียจัดเป็นคู่แข่งทางด้านการผลิตที่น่าจับตามองของไทย เนื่องจากข้อได้เปรียบทางด้านแรงงาน การมีพื้นที่มาก ทำให้มีโอกาสขยายพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำ จึงสามารถขายผลผลิตในตลาดโลกได้ในราคาที่ถูกกว่า เหล่านี้จึงเป็นสาเหตุทำให้ไทยถูกแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป นอกจากนี้การเร่งพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) ซึ่งได้รับจากการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้อินโดนีเซียแซงหน้ากลายเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย

*************************************

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ