แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 24, 2013 12:51 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 22/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2556 ยังคงชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง เนื่องจากรายได้เกษตรกรชะลอลง ผนวกกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังคงลดลง รวมถึงสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการค้าลดลงโดยเฉพาะการค้ายานยนต์และการค้าวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงจากการก่อสร้างเป็นสำคัญ สำหรับเสถียรภาพด้านราคายังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.82 และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน วัดจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.6 แต่ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน เนื่องจากการบริโภคสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ลดลงสอดคล้องกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อ ภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 40.5 ส่งผลให้ภาคการค้าลดลง โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.3 โดยเฉพาะการลดลงของการค้าปลีกรถยนต์

การลงทุนภาคเอกชน วัดจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.1 ตามภาคการก่อสร้างที่ลดลง สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการค้าวัสดุก่อสร้างที่ลดลง ประกอบกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ และทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ลดลง

การใช้จ่ายของภาครัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 41.9 เนื่องจากมีการโอนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับ อปท. เพิ่มขึ้นหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ประกาศใช้ในเดือนตุลาคม และเริ่มทยอยเบิกจ่ายในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่รายจ่ายงบลงทุนยังคงลดลงจากหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นสำคัญ

ภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน จากราคาพืชผลที่ลดลงค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าผลผลิตพืชสำคัญจะเพิ่มขึ้น โดยดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 จากการเพิ่มขึ้นของทั้งผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานและยางพารา แต่ดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาอ้อยโรงงานลดลง ตามราคาน้ำตาลโลก เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังคงอยู่ในระดับสูง ราคามันสำปะหลังลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย กอปรกับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบทดแทนมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคายางพาราลดลง ตามราคาตลาดโลกและสต็อกอยู่ในระดับสูง ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวชะลอลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการซื้อตามภาวะตลาดชะลอตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรม วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.8 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลงเนื่องจากสต็อกสินค้าเริ่มสูงขึ้น การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลลดลง ตามการผลิตน้ำตาลทรายดิบ เนื่องจากในปีนี้เปิดหีบช้ากว่าปีก่อน และการผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงตามความต้องการจากต่างประเทศ สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 48.2 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 48.9

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2556 ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากคงค้าง 580.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.3 จากเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ ขณะที่เงินฝากกระแสรายวันลดลง ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 753.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.8 แต่ชะลอตัวต่อเนื่องจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ ร้อยละ 130.0 สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากยอดคงค้าง 321.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.8 แต่ชะลอตัวจากเดือนกันยายน ตามเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 927.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.1 แต่ชะลอตัวต่อเนื่อง จากสินเชื่อของเกือบทุกธนาคาร ยกเว้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ส่งผลให้มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 288.3

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.82 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาผักสด ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.42 สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ